Blendata (เบลนเดต้า) ประกาศนำเทคโนโลยี Big Data ช่วยเสริมระบบ Cybersecurity พร้อมเพิ่มจุดแข็งให้ Holistic G-Cyber Solution ของกลุ่มจีเอเบิล เชื่อความสามารถของ Blendata Enterprise แพลตฟอร์ม จะยกระดับเกราะป้องกันระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ครบถ้วน 4 ด้าน
ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็วของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยมีโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งทำให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร และเพิ่มความสะดวกให้การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้สกุลเงินที่ไม่สามารถติดตามธุรกรรมได้ อย่าง Cryptocurrency และบางองค์กรอาจขาดความรัดกุมด้านความปลอดภัยในข้อมูลบนระบบดิจิทัล ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ จากผลสำรวจของ Kaspersky ในปี 2021 พบว่าประเทศไทยมีสถิติถูกโจมตีทางไซเบอร์มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งนับเป็นภัยที่องค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในยุคที่ดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้
"ดังนั้น การวางแนวทางการป้องกันและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี นโยบายขององค์กร และพนักงานในองค์กร คือสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสียหาย ทั้งในด้านค่าใช้จ่าย การเรียกค่าไถ่จาก Ransomware หรือค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายด้านภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือขององค์กร"
Blendata นิยามตัวเองเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data อัจฉริยะ บริษัทมองว่าองค์กรและธุรกิจพบภัยทางไซเบอร์มีความซับซ้อนและแยบยลมากขึ้น ส่งผลให้ระบบป้องกันแบบเดิมไม่เพียงพอในการรับมือ ทำให้เทคโนโลยี Big Data กลายเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับระบบ Cybersecurity ขององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น และการนำข้อมูลมหาศาลมาจัดเก็บและประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้องค์กรสามารถเตรียมพร้อม ป้องกัน ตรวจพิสูจน์หลักฐาน (Forensic) แก้ไขปัญหา รวมถึงสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมและความผิดปกติที่ตรวจสอบพบมาใช้วางแนวทางในการป้องกันภัยไซเบอร์ได้ทันท่วงที
นายณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เบลนเดต้า จำกัด บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data กล่าวเสริมว่า เนื่องจากภัยคุกคามในปัจจุบันที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อน ทั้งในด้านรูปแบบการโจมตี กลุ่มบุคคลที่ทำการโจมตี ไปจนถึงระบบและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การตรวจจับด้วยระบบแบบเดิมๆ เช่น Firewall หรือ Antivirus อาจไม่เพียงพอในการรับมืออีกต่อไป อีกทั้งองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลังบ้านที่มีความซับซ้อนสูง มีความหลากหลายทั้งในส่วนของเครือข่าย อุปกรณ์ทางด้านซิเคียวริตี แอปพลิเคชัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ปัจจุบันทำงานอยู่ทั้งบนระบบคลาวด์ที่หลากหลาย จำพวก Multi/Hybrid Cloud ดังนั้นการเข้าไปช่วยตรวจสอบ รวมถึงการเสริมประสิทธิภาพทางด้านไซเบอร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการนำข้อมูลจากหลากหลายแหล่งและหลายรูปแบบมาค้นหาและประมวลผลในการตรวจสอบปัญหาและสาเหตุนั้นมักจะยุ่งยากและมีความท้าทายอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ Blendata ได้นำแพลตฟอร์ม Blendata Enterprise เข้าไปเป็นตัวช่วยสำคัญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-Able) ด้วยแพลตฟอร์มที่มาพร้อมความสามารถที่ตอบโจทย์การยกระดับระบบ Cybersecurity ขององค์กร ใน 4 ด้าน ช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมและเหตุการณ์ของอุปกรณ์ทั้งหมดทุกชนิดในองค์กร ให้สามารถค้นหา ตรวจสอบ และแจ้งเตือนภัยคุกคามได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ผสานกับเทคนิคการประมวลผลข้อมูลขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) และ Machine Learning (AI/ML) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ที่ผิดปกติได้อย่างรวดเร็วรัดกุมมากที่สุด และยังมีการวางแผนพัฒนารูปแบบการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนได้ รวมถึงเป็นการเสริมจุดอ่อนขององค์กรทั่วไปที่ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลย้อนหลัง ทำให้ยากต่อการตามรอยตรวจจับพฤติกรรมของแฮกเกอร์
4 ความสามารถในการยกระดับระบบ Cybersecurity ขององค์กรบนแพลตฟอร์ม Blendata Enterprise ประกอบไปด้วย 1.Cybersecurity Data-Lake หรือการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบันทึกของอุปกรณ์ (Log) ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ข้อมูลจากระบบคลาวด์ขององค์กร รวมไปถึงข้อมูลทางด้านภัยคุกคามจากภายนอก (Threat Intel) ไว้ในที่เดียวกัน โดยการจัดเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อให้พร้อมสำหรับการค้นหา และตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วในหลักวินาที 2.Centralized operational dashboard การรวบรวมข้อมูลจากทุกอุปกรณ์ เพื่อสร้าง Dashboard แบบรวมศูนย์ เพื่อสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
3.Rule-based detection & Alert Normalization การแจ้งเตือนจากหลากหลายเหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น รวมถึงลดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อคัดกรองเฉพาะการแจ้งเตือนที่สำคัญ และ 4.Advanced security analytics การใช้เทคโนโลยี AI/ML บนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อตรวจจับ ระบุพฤติกรรม เหตุการณ์ หรือความผิดปกติใดๆ ที่เกิดมาจากการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานที่ผิดปกติ (User behavior analysis) การขนข้อมูลออกไปโดยมิชอบ (Data exfiltration) เป็นต้น
“Blendata ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Big Data อัจฉริยะ Blendata Enterprise ที่สามารถรองรับการนำข้อมูลหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบันทึกอุปกรณ์ ข้อมูลระบบสารสนเทศขั้นพื้นฐาน (Infrastructure) ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน มาประมวลผลได้อย่างรวดเร็วบนเทคโนโลยี Big Data ในลักษณะ No-Code ทำให้ Blendata สามารถเข้าไปช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ G-Able รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งในด้านการตรวจจับภัยคุกคามสมัยใหม่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เสริมเกราะป้องกันให้ระบบสารสนเทศขององค์กร รวมถึงเป็นการวางรากฐานที่สำคัญสำหรับกลไกป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคต” นายณัฐนภัสกล่าว