xs
xsm
sm
md
lg

OutSystems ยูนิคอร์นโปรตุเกสดัน Low-Code ไทย ขยายฐานผู้ใช้ 500% ใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป้าหมายเรื่องการขยายฐานผู้ใช้ทั่วโลกให้ได้ 5 เท่าตัวภายใน 5 ปี เกิดขึ้นบนความท้าทายหลักที่ OutSystems เห็นในขณะนี้ นั่นคือหลายองค์กรลดงบประมาณและเลื่อนการลงทุนออกไป
เปิดวิสัยทัศน์ “เติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์” รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์ (OutSystems) ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทดาวรุ่งสัญชาติโปรตุกีสอย่าง OutSystems ไปสู่ฝันเรื่องการขยายฐานผู้ใช้ทั่วโลกให้ได้ 5 เท่าตัวภายใน 5 ปี ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายตั้งแต่ปีแรกของพันธกิจนี้ด้วย

ความเชื่อมั่นของ OutSystems สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในวงการแพลตฟอร์มสร้างแอปพลิเคชันแบบเขียนชุดคำสั่งน้อย หรือเทคโนโลยีโลว์โค้ด (Low-Code) ภาวะนี้น่าจับตามองว่าตลาด Low-Code ไทยจะขยายตัวและมีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ (Gartner) พบว่าภายในปี 2567 ราว 65% ของการพัฒนาแอปพลิเคชันจะถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี Low-Code ทั้งสิ้น

สำหรับ OutSystems ข่าวใหญ่ที่ทำให้บริษัทได้รับความสนใจคือการได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นจนมีมูลค่าตลาดเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 64 ทำให้ OutSystems เป็น Unicorn หรือยูนิคอร์นที่เติบโตสูงสุดของประเทศโปรตุเกสหลังจากก่อตั้งมานาน 20 ปี จุดเด่นของบริษัทคือการพัฒนาเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้าง และติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันที่หลากหลายได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชนผู้ใช้ OutSystems หรือ Community member กว่า 435,000 ราย พนักงานมากกว่า 1,500 คน พันธมิตรกว่า 350 ราย และลูกค้าหลายพันรายใน 87 ประเทศ ใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม

***เร็วขึ้น 5 เท่า

เติมศักดิ์ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันการเติบโตที่รวดเร็วของ OutSystems คือการนำเสนอเทคโนโลยี Low Code ซึ่งสามารถพลิกโฉมการเขียนโปรแกรมแบบดั้งเดิม ที่นักพัฒนาต้องเขียนโค้ดคำสั่งด้วยตัวเอง การเขียนจึงคืบหน้าได้ช้าและยุ่งยาก ต้องว่าจ้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการสูง ภาวะบุคลากรไม่เพียงพอจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แอปพลิเคชันจำเป็นต้องสามารถใช้งานได้ทั้งบนเว็บไซต์และบนโมบาย และธุรกิจจะต้องเชื่อมประสบการณ์ทั้งสองส่วนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งบนระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) ซึ่งทั้งหมดทำให้องค์กรต้องจ้างพนักงานไม่ต่ำกว่า 3 คน ขณะเดียวกัน ต้องทำให้ระบบดูสวยงาม ลดความซับซ้อน ทำให้ต้องใช้ทุนสูง

“บางองค์กรต้องใช้เวลา 2 ปี กว่าจะสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาให้บริการลูกค้า และต้องใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท แต่ OutSystems เป็นเหมือนการต่อเลโก้ ที่สามารถทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน สามารถทำได้ง่าย รองรับการปรับปรุงในอนาคต ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันทำได้เร็วขึ้น 5 เท่าตัว จาก 2 ปีอาจจะเหลือ 3-4 เดือน ขณะที่การประหยัดงบประมาณนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนพนักงานและเวลา”

เติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์
เติมศักดิ์ ชี้ว่าแพลตฟอร์มที่สร้างบน OutSystems สามารถแก้ไขและนำออกเปิดให้บริการได้ใน 1 คลิก ทำให้จุดเด่นที่บริษัทเน้นโปรโมตคือความเร็วและง่าย รวมถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สิ่งที่บริษัทยึดเป็นจุดแข็งในการแข่งขัน คือการเป็นบริษัทที่ไม่ทำธุรกิจอื่น แต่เน้นให้บริการเทคโนโลยี Low Code โดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ยังเป็นบริการที่สามารถขยายการให้บริการได้สูงสุด รองรับผู้ใช้เกินล้านคน และยังเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานเปิด (open source) ซึ่งเมื่อเลิกใช้งานจะได้รับซอร์สโค้ดไป ขณะเดียวกัน เติมศักดิ์เชื่อว่าบริษัทโดดเด่นเรื่องความครบ หรือ full life cycle รวมคุณสมบัติไว้ในโปรดักต์แพกเกจเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเทรนด์การแข่งขันที่เกิดขึ้นในตลาด Low Code วันนี้

เติมศักดิ์เชื่อว่าเหตุที่ทำให้ผู้คนพูดถึง Low Code มากขึ้น คือความต้องการพัฒนาแอปให้เร็ว โดยยกการสำรวจจาก IDC ที่บอกว่าผู้นำของบริษัทในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก 47% ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เร็ว แต่มี 29% เท่านั้นที่เพิ่งเริ่มทำ Low Code เติมศักดิ์เชื่อว่าโลกจะเห็นแนวโน้มที่สูงขึ้นอีก เพราะความต้องการเรื่องการทำงานจากบ้าน (Work From Home) และความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ (business continuity) ซึ่งหากองค์กรใดพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ทันอาจจะได้รับผลกระทบในทางธุรกิจ

สำหรับโควิด-19 เติมศักดิ์เชื่อว่าเป็นปัจจัยเร่ง หลังจากที่หลายองค์กรใหญ่ไม่สามารถรันธุรกิจให้ราบรื่นเพราะไม่มีแอปพลิเคชัน เห็นได้ชัดจากบริษัทวิจัยฟอร์เรสเตอร์ (Forester) ที่ประเมินว่าเม็ดเงินการลงทุนในเทคโนโลยี Low Code ทั่วโลกจะมากขึ้นถึง 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การ์ทเนอร์เชื่อว่าภายในปีหน้า (2566) 50% ขององค์กรขนาดกลางถึงใหญ่จะเลือกใช้ Low Code ดังนั้นจึงเป็นเทรนด์ที่ขยายตัวเร็วมาก

“ในประเทศไทย การพัฒนาจะเป็นไปในทางเดียวกัน ผมเห็นรายงานของประเทศไทยมีการใช้ online translation สูงมาก รวมถึงแอปพลิเคชันพร้อมเพย์และเป๋าตัง มีการใช้งานที่สูง ทำให้องค์กรต้องรองรับมากขึ้น”

***นักพัฒนาต้องรู้ธุรกิจ

เติมศักดิ์มองว่าในสถานการณ์นี้ นักพัฒนาต้องปรับตัวด้วยการไม่โฟกัสแต่เฉพาะส่วนงานของตัวเอง แต่ต้องศึกษาเพื่อให้มีทักษะด้านธุรกิจด้วย ความท้าทายที่นักพัฒนาต้องปรับจึงอยู่ที่การเชื่อมต่อกัน ซึ่งช่วยให้การดีไซน์ทำได้ถูกต้อง จุดนี้ตรงกับจุดขายของ OutSystems ที่เน้นเรื่องความเร็วและง่าย ขณะเดียวกัน มีตัวเลือกให้ใช้งานฟรี ซึ่งนักพัฒนาสามารถเข้ามาพัฒนาเองได้

นอกจากธุรกิจ การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นควรจะต้องรองรับเทคโนโลยีในอนาคตทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) วีอาร์ (virtual reality) เมตาเวิร์ส (Metaverse) คริปโตและบล็อกเชน ซึ่งต้องใช้ปลั๊กอิน ทั้งหมดนี้ OutSystems มีชุมชนในแพลตฟอร์มราว 5 แสนคนทั่วโลก ซึ่งจะแบ่งปันความรู้หรือโครงสร้างแอปให้ผู้คนเข้าไปดาวน์โหลดได้ สำหรับใช้งานเฉพาะบนแพลตฟอร์มของ OutSystems

ผู้บริหารชี้ว่าตั้งแต่มีโควิด-19 ความต้องการในตลาดนั้นเกิดขึ้นสูงมากอีก เนื่องจากธุรกิจต้องพยายามขยายแอปให้รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ทัน และยังต้องสามารถแก้ไขปัญหาให้ได้เร็วที่สุด ทำให้เกิดความสนใจ Low Code สำหรับบริษัท OutSystems แม้จะมีโควิด-19 แต่รายได้ของบริษัทนั้นเติบโตมากกว่า 30% เป็นการเติบโตมากกว่าเลข 2 หลักซึ่งคาดว่าจะยังเติบโตต่อไปในปีนี้

***เติบโตทั่วภูมิภาค

การเติบโตเป็นเลข 2 หลักนี้เชื่อว่าจะเกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ซึ่งรวมถึงฮ่องกง จุดนี้ OutSystems ชี้ว่าอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 6 ปีล่าสุด ซึ่งปัจจุบัน ภูมิภาคนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินที่ OutSystems ทำได้จากตลาดเอเชียแปซิฟิก

ความต่างที่ทำให้ตลาดไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่น คือมูลค่าแรงงานของนักพัฒนาไทยที่อาจจะอยู่ในระดับไม่สูงนัก ทำให้บางองค์กรมองว่าการสมัครสมาชิกกับ OutSystems นั้นยังไม่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยพบว่าความต่างที่ทำให้ตลาดไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่น คือมูลค่าแรงงานของนักพัฒนาไทยที่อาจจะอยู่ในระดับไม่สูงนัก ทำให้บางองค์กรมองว่าการสมัครสมาชิกกับ OutSystems นั้นยังไม่คุ้มค่า จุดนี้ผู้บริหารเชื่อว่าเป็นผลจากการหลงลืมของหลายองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับโอกาสสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้เร็วกว่าคู่แข่ง จุดนี้ ผู้บริหารยกตัวอย่างแอปพลิเคชันกลุ่มสินเชื่อรายย่อย (Mini Loan) ที่หากธุรกิจทำได้เร็วกว่าคู่แข่งเพียง 10 เดือน จะถือว่าได้รับโอกาสที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน OutSystems ยังไม่มีนโยบายปรับลดราคาสมัครสมาชิกพรีเมียม แต่ใช้วิธีเพิ่มแพกเกจระดับเริ่มต้น หรือ Entry Level ให้หลากหลายขึ้นเพื่อเน้นให้เพิ่มจำนวนลูกค้า โดยต้องการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ให้ได้ 500 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปี (ปีปัจจุบันเป็นปีที่ 1) เชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดย่อมหรือ SMB ได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังไม่กล้าลงทุนราคาหลักล้านบาท ซึ่งหากลงทุนในระดับ Entry Level จะสามารถสร้างแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ในราคา 6-7 แสนบาท หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งในแผนกงานขององค์กรใหญ่ ซึ่งต้องการสร้างแอปพลิเคชันที่พัฒนาได้รวดเร็วและรองรับผู้ใช้ปริมาณมหาศาลได้

OutSystems ชี้ว่ากลยุทธ์เรื่องการโฟกัสที่ Entry-Level นั้นมีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เน้นจริงจังขึ้นในช่วงปีนี้ โดยในอนาคต OutSystems จะเน้นลงทุนด้านสัมมนาและการให้บริการศูนย์สนับสนุนหรือ support center ที่มีให้บริการแบบ 24 ชั่วโมงที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนอกจากการเพิ่มจำนวนพนักงาน OutSystems ได้ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มยี่ห้อใหม่ ซึ่งจะเปิดตัวในไตรมาส 2 ของปีนี้

“แพลตฟอร์มใหม่จะเป็นบริการคลาวด์เต็มรูปแบบ (fully cloud native) รองรับเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ จะเป็นอีกแรงที่ช่วยให้ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 5 เท่าใน 5 ปี”

เป้าหมายนี้ OutSystems เชื่อว่าสามารถทำได้ด้วยการพุ่งเป้าทำตลาดในส่วน (segment) ภาคการผลิต กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทโทรคมนาคม

“ความท้าทายหลักที่เห็นในขณะนี้ คือ หลายองค์กรลดงบประมาณและเลื่อนการลงทุนออกไป แต่เชื่อว่าอีกหลายองค์กรจะต้องเร่งลงทุนเพื่อตอบความต้องการที่สูงขึ้น ทำให้ความท้าทายนี้ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากบางธุรกิจอาจจะเลื่อน แต่จะมีรายอื่นที่ยังคงลงทุนต่อเนื่อง”

ยูนิคอร์นโปรตุเกสอย่าง OutSystems จึงมั่นใจว่าตลาด Low-Code ไทยจะเติบโตก้าวกระโดด และขยายฐานผู้ใช้ 500% ได้สำเร็จภายใน 5 ปีนับจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น