xs
xsm
sm
md
lg

‘ออราเคิล’ ชี้ 5 กุญแจสำคัญพาองค์กรสู่ความสำเร็จ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าโควิดจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การเผชิญกับความปกติใหม่ หรือนิว นอร์มัล ที่ต้องอยู่กับเราตลอดไป อะไรคือกุญแจสำคัญที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ “ทวีศักดิ์ แสงทอง” กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จด้วยเทคโนโลยีทั้งในปี 2565 และอนาคต ต้องมาจาก 5 กุญแจสำคัญนี้

***บอร์ดต้องลงทุนกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง

กุญแจแรกคือคณะกรรมการบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงการลงทุนกับระบบคลาวด์อย่างจริงจัง ในขณะที่ทั่วโลกจะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับคลาวด์ประมาณ 1.78 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ คำถามก็คือ บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลกำลังลงทุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรือพวกเขาแค่กำลังทำงานด้านดิจิทัลแบบผักชีโรยหน้าเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความซ้ำซากเรื่องดิจิทัล?”

เราเริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ว่าระบบคลาวด์มอบอิสระแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคให้หลุดพ้นจากงานที่น่าเบื่ออย่างการดูแลความปลอดภัยหรือการบำรุงรักษาระบบ ช่วยให้พวกเขามีเวลาใช้ความคิดเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีความโดดเด่นและสร้างผลกำไรได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าคลาวด์ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผ่านการใช้เครื่องมือที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning : ML) รูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้งานที่มีความเข้าใจสามารถสั่งงานได้เพียงปลายนิ้วเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจขององค์กร

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2565 เราจึงคาดหวังว่าคณะกรรมการของบริษัทต่างๆ จะขอให้ฝ่ายบริหารนำเสนอเอกสารเรื่องการลงทุนกับระบบคลาวด์เพื่อช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว

***เอไอคือเครื่องมือสำคัญขององค์กร

ทวีศักดิ์ แสงทอง
กุญแจที่สอง การเรียนรู้ของเครื่องมือและปัญญาประดิษฐ์คือขุมพลังสู่การเป็นวิสาหกิจดิจิทัลชั้นนำ เนื่องจากวิสาหกิจส่วนใหญ่มีปริมาณข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์เป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์และเรียนรู้จากข้อมูลเหล่านั้น รวมถึงยกระดับการตัดสินใจ และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานในขั้นต่อไปได้ ทว่า วิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นตอนทดลองใช้งานระบบการเรียนรู้ของเครื่องมือและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็คือการแสวงหาทักษะที่จำเป็น

บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการรวบรวมบุคลากรระดับด็อกเตอร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล ทางเลือกอื่นที่ทำได้คือ การสร้างทีม MLOps (Machine Learning + Operations) ที่มีขนาดเล็กลงและเน้นการทำงานเฉพาะด้าน โดยจะคล้ายกับทีม DevOps (Development Operations)ในการพัฒนาแอปพลิเคชันมากกว่า ซึ่งแน่นอนทีมดังกล่าวประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงนักพัฒนา และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนา ดูแลรักษา และปรังปรุงประสิทธิภาพโมดูลระบบการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์

จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบัน Forester ทำนายว่าองค์กร 1 ใน 5 จะลงทุนกับ AI มากขึ้นเป็น 2 เท่า และภายในปี 2568 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าวิสาหกิจ 10% ที่ติดตั้ง AI จะสามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับอีก 90% ที่เหลือซึ่งไม่ได้ติดตั้ง ดังนั้น รีบสร้างความได้เปรียบตั้งแต่วันนี้ย่อมดีกว่า

***ลูกค้าจะประเมินบริษัทด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน


กุญแจที่สาม คือ ลูกค้าจะประเมินบริษัทของคุณด้วยมาตรฐานด้านความยั่งยืน ไม่ว่าในการซื้อสินค้าและบริการ การพิจารณาถึงนายจ้างในอนาคต หรือแม้แต่การลงทุนสต๊อกสินค้า ผู้คนในทุกช่วงวัยเริ่มมีการประเมินแนวคิดและพันธะสัญญาด้านความยั่งยืนของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ วิสาหกิจต่างๆ ก็กำลังทำเช่นเดียวกับซัปพลายเออร์และคู่ค้าทุกรายนั่นคือการพยายามทำให้องค์กรของตนเองมีความน่าเชื่อถือในด้านการลดอัตราการปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนวิธีการกลบฝังขยะ และการหันมาใช้แนวทางการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

ในปี 2565 การที่ธุรกิจต่างๆ ต้องวางแผนและดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น เสมือนคำสั่งระดับสูงที่จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สถาบัน Forester รายงานว่า กลุ่มบริษัทในรายชื่อ Fortune Global 200 กว่า 92% ในอเมริกาเหนือ และ 81% ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกกลาง และแอฟริกา มีการแต่งตั้งตำแหน่งผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการและตำแหน่งอื่นๆ ในระดับบริหาร ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีตำแหน่งด้านนี้เพียง 26%

***เปลี่ยนแนวทางพัฒนาสายอาชีพ

กุญแจที่สี่ คือ การพัฒนาสายอาชีพ หากนายจ้างไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาสายอาชีพและการรับสมัครพนักงานหลังภาวะการแพร่ระบาด จะล้าหลังกว่าคนอื่น การสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าระบุอย่างชัดเจนว่า การว่าจ้างและการรักษาพนักงานผู้มีทักษะถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงทุกคน การลาออกครั้งใหญ่ที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าในปี 2565 นายจ้างจะตัดงานบางส่วนของพนักงานออกไป กล่าวคือ บริษัทจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้นในการวางแผนเส้นทางอาชีพให้พนักงานที่มีคุณค่ามากที่สุด และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาในเรื่องสมดุลระหว่างงานและการใช้ชีวิต ความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงาน รวมถึงเรื่องอื่นๆ หรือไม่ก็ต้องยอมเห็นพวกเขาเดินออกไปจากองค์กร

รายงาน 2021 AI@Work report by Oracle and Workplace Intelligence พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากกล่าวว่า การแพร่ระบาดเป็นสาเหตุทำให้พวกเขารู้สึก “จมปลัก” และผลักดันให้พวกเขาต้องทบทวนอนาคตของตนเองอีกครั้ง ผลลัพธ์ก็คือพนักงานกว่า 84% ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพการงานในปีหน้า (ปี 2022) 86% ไม่พึงพอใจกับการสนับสนุนด้านอาชีพการงานของนายจ้าง และ 91% กล่าวว่า นายจ้างควรรับฟังความต้องการของพวกเขามากกว่า นอกจากนี้ 93% ของผู้ทำแบบสอบถามยังระบุว่า การแพร่ระบาดทำให้การสร้างสมดุลชีวิตและงาน สุขภาพจิต และความยืดหยุ่นในการทำงานมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับพวกเขา

*** การใช้เทคโนโลยีบริหารซัปพลายเชน


กุญแจสุดท้าย คือ การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการซัปพลายเชน จากการแพร่ระบาดกดดันให้นักวางแผนซัปพลายเชนต้องประเมินลำดับความสำคัญเสียใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการบริหารซัปพลายเชน (Supply Chain Management : SCM) ใหม่ล่าสุดจะกลายเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างเช่น การเติมสินค้าในคลังให้ “ทันเวลา” เคยเป็นแนวทางปฏิบัติงานที่ดีที่สุดในช่วงก่อนการแพร่ระบาดแต่ “สินค้าคงคลังในระดับที่ปลอดภัย” หรืออีกชื่อคือคลังสินค้าแบบ “เผื่อในกรณีฉุกเฉิน” กลับถูกพิจารณาให้เป็นความปกติรูปแบบใหม่ แม้เทคโนโลยีซัปพลายเชนอันซับซ้อนจะไม่สามารถป้องกันผลกระทบของตลาดจากปัญหาต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างเช่นกรณีการแพร่ระบาดทั่วโลก แต่ยังช่วยให้บริษัทมีจุดสมดุลของคลังสินค้าในระดับที่ปลอดภัยได้

เมื่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงจากการซื้อหน้าร้านมาเป็นระบบออนไลน์ บริษัทต่างๆ จึงต้องตระหนักและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงการวางแผนสำหรับ “ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น (Ripple Effect)” ที่จะกระทบกับโรงงาน ศูนย์ข้อมูล และห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของบริษัท ผู้เชี่ยวชาญจากออราเคิลกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องใช้โซลูชันการวางแผนซัปพลายเชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจำลองสถานการณ์และสร้างการทำนายรูปแบบอุปสงค์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ได้มากยิ่งขึ้น”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสิ่งสำคัญเหล่านี้ทั้งในบริบทด้านผลกระทบ โอกาส และความท้าทายทางธุรกิจแล้ว ธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทยและเอเชียจึงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูยุคสมัยแห่งเอเชียให้กลับมาเฟื่องฟูใหม่ได้อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น