xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. จับมือ สถาบันคลังสมองของชาติ เร่งสร้างระบบพัฒนา RDI Manager เชื่อมงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ จัดประชุมถกประเด็น ระดมความเห็น (ร่าง) ระบบพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่ เร่งสร้างความเข้มแข็งของ RDI Manager บุคลากรการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ฟันเฟืองข้อต่อสำคัญในการผลักดัน การผลิตงานวิจัย และนวัตกรรมของประเทศให้มีศักยภาพ

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สถาบันคลังสมองของชาติ จัดเวทีเสวนาเปิดมุมมอง “ความจำเป็นและความคาดหวังต่อผู้จัดการงานวิจัย” ในการประชุมระดมความเห็น (ร่าง) ระบบพัฒนาผู้บริหารงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่ ภายใต้โครงการ การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (Research and Development and Innovation Manager; RDI Manager) ด้านชุมชนและพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก สกสว. นับเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการออกแบบ “ระบบพัฒนา RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่” จากทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ โดยเป็นการจัดประชุม รูปแบบไฮบริด ณ โรงแรมปทุมวัน พริ้นเซส และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
โอกาสนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะผู้บุกเบิกระบบการบริหารจัดการงานวิจัยให้แก่ประเทศ ร่วมสะท้อนคิดว่า การสร้างศักยภาพของ RDI Manager นั้น เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ โดยแบ่งการเรียนรู้เป็นสัดส่วน 70 : 20 : 10 กล่าวคือ 1.Learning by doing RDI Manager เรียนรู้จากการลงมือทำ จากงานหน้าตักที่ตัวเองถืออยู่ 70 % 2.Learning by sharing เรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนกับกลุ่ม RDI Manager ด้วยกัน 20 % และ 3.Learning by training เรียนรู้ผ่านการฝึกอบรมต่างๆ 10 % ทั้งนี้ ควรมีการสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงคุณค่าและความจำเป็นของ RDI Manager เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ของประเทศ

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ระบบนิเวศของ RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่ ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดังนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรจัดทำระเบียบ การทำงาน เส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน เอื้อต่อการทำงานของ RDI Manager เนื่องจาก RDI Manager ทำงานที่ยากและท้าทาย เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง “Change Manager” จะสังเกตได้ว่าหากมหาวิทยาลัยมี RDI Manager ที่มีศักยภาพ จะสามารถหางบประมาณด้าน ววน. มาสนับสนุนการทำงานได้มากขึ้น

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์
ในขณะที่ ผู้บริหารหน่วยงานในระบบ ววน. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึง “ความจำเป็นและความคาดหวังต่อผู้บริหารจัดการงานวิจัย” โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า

“ระบบการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาและเข้มแข็งขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกันของทั้ง สอวช. สกสว. หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) การทำงานและสื่อสารกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณลงไปขับเคลื่อนการทำงานตามลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยผลงานวิจัยของนักวิจัยเชิงพื้นที่ที่เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคนโยบายอย่าง รัฐสภา สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร มองเห็นประโยชน์และมูลค่าจากการลงทุนด้าน ววน. RDI Manager ทุกระดับควรมีทักษะด้านการสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) โดยอาจประยุกต์ใช้เครื่องมือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มีความสามารถในการประเมินความเป็นไปได้ (Assessment) จากการวิจัยและผลจากการลงทุนที่เกิดขึ้น ต้องมองเห็นภาพงานวิจัยในเชิงกรอบแนวคิด (Conceptual) ได้ ที่สำคัญควรพัฒนาตนเอง โดยให้น้ำหนักจากการลงมือทำ (Learning by doing) มากกว่าการอบรม และมีพี่เลี้ยง (Mentor) สนับสนุนการทำงาน เช่นเดียวกับที่ ศ.นพ.วิจารณ์ สะท้อนคิด”

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์
ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า

“หลังการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศ ภาคนโยบายตั้งคำถามกับผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่เกิดจากการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากที่ผ่านมากลไกการวิจัยของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย อาจไม่ได้ถูกออกแบบให้ผลักดันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงเกิดเป็นช่องว่างทางการทำงาน (Gap) ขาดคนที่สื่อสารและเป็นข้อต่อการทำงานสำคัญระหว่างฝั่งวิชาการ นักวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์ (Users) ไม่ว่าจะเป็นจากพื้นที่ หรือภาคเอกชน ดังนั้นผู้ที่มาทำหน้าที่ RDI Manager ต้องเป็นผู้มีทักษะการบริหารจัดการวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำคือพัฒนาโจทย์วิจัย เคลื่อนงานไปถึงปลายทางคือการใช้ประโยชน์จากผลการวิจัย และเห็นด้วยกับการทบทวน Career Path ที่ชัดเจนของ RDI Manager นอกจากนี้ปัจจุบัน ได้มีการประกาศ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” ซึ่ง สกสว. คาดหวังว่าหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะส่งผลให้เกิดจำนวนสิทธิบัตรมากขึ้นและมีการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และ RDI Manager มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความตระหนักและสร้างความเข้าใจเรื่องนี้”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวให้มุมมองว่า “สิ่งที่ RDI Manager ควรมีนอกจากแรงบันดาลใจในการทำงานแล้ว คือ พลังในการเรียนรู้ การเข้าใจระบบทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และพลังแห่งการอธิบาย การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ หากมีการสื่อสารกับภาคนโยบาย RDI Manager คือบุคคลสำคัญ เนื่องจากเข้าใจข้อมูล รู้กระบวนการทำงานมากที่สุด ดังนั้นต้องมองไปข้างหน้า ฉายภาพรวมให้ผู้กำหนดนโยบายมองเห็น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่าโครงการนั้นสามารถสร้างผลกระทบให้กับประเทศได้ สิ่งที่ บพท. ในฐานะ PMU คาดหวังคือ ความยั่งยืนของระบบ และภาคนโยบายมีความเข้าใจ มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของโครงการนั้นๆ ตลอดจนควรออกแบบการจัดการความรู้ที่ดีหนุนเสริมการทำงานของ RDI Manager

รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ
ในขณะที่ คณะผู้วิจัยนำโดย รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ อ.สุปราณี จงดีไพศาล และ สพ.ญ.ดร.วันทนีย์ กัลล์ประวิทธ์ ได้นำเสนอ (ร่าง) “ระบบพัฒนาผู้บริหารงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่” โดยส่วนหนึ่งคือ การฉายภาพข้อค้นพบจากผู้ทำงานจริงคือ RDI Manager มองว่าตนเองต้องสามารถ เชื่อมโยงโจทย์ของชุมชนและพื้นที่กับเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาประเทศได้ ต้องกำหนดเป้าหมายร่วมของแผนงานวิจัย ให้เข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาและ ทิศทางของพื้นที่ หรือยุทธศาสตร์การวิจัย วางกรอบคิดออกแบบแผนงานชุดโครงการวิจัยที่สามารถส่งมอบผลลัพธ์ ตลอดจน สามารถบริหารจัดการงานวิจัยได้ตลอดห่วงโซ่การวิจัยต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เข้าใจและออกแบบกระบวนการจัดการที่มุ่งผลเชิงคุณภาพได้ นอกจากนี้การจัดทำมาตรฐานการรับรองระบบบริหารจัดการงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ควรมีการขับเคลื่อน อย่างไรก็ดี หลังการเปิดเวทีรับฟังในวันนี้ คณะนักวิจัยจะนำข้อมูลไปสังเคราะห์ และปรับปรุง (ร่าง) ระบบพัฒนาผู้บริหารงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น