xs
xsm
sm
md
lg

‘พรชัย มีมาก’ จี้คลังรักษาประโยชน์ชาติ 6.6 หมื่นล้าน หลังศาลฎีกาตัดสินคดีแก้ไขสัญญาร่วมการงาน AIS (ครั้งที่ 6)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘พรชัย มีมาก’ อดีตประธานสหภาพฯ ทีโอที ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เร่งสั่งการให้ NT เรียกเงินคืนย้อนหลังกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ได้ตัดสินให้การแก้ไขสัญญาร่วมการงาน (ครั้งที่ 6) เพื่อปรับลดส่วนแบ่งรายได้บริการพรีเพดเป็น 20% คงที่ในขณะที่ตามสัญญาหลักต้องจ่ายแบบก้าวหน้าตั้งแต่ 15-30% มีความผิด ที่ทำให้อดีตผู้อำนวยการ ทศท.(ทีโอที) ต้องโทษจำคุก 6 ปี และชดใช้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ย้ำเงินที่ได้คืนมานั้นควรนำมาบันทึกเป็นรายรับของ NT เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาคืนเป็นโบนัสให้พนักงานตามสัดส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ด้าน ‘น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์’ กรรมการและรักษาการ กจญ.NT แจงส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดหารือแนวทางดำเนินการต่อไป 

พรชัย มีมาก อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินคดีแพ่งต่อ ‘สุธรรม มลิลา’ อดีตผู้อำนวยการ ทศท.หลังจากมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2564 ในคดีแก้ไขสัญญาร่วมการงาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือพรีเพด ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ทำให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญา มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม 1/2553 ส่งผลให้ ‘สุธรรม’ ต้องโทษจำคุก 6 ปี และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2559 นั้น

ในส่วนของกระทรวงการคลังซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทศท.หรือปัจจุบันคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ควรดำเนินการเร่งสั่งการให้คณะกรรมการ (บอร์ด) NT ดำเนินการในทางคดีแพ่งต่อไปเพื่อให้ได้เงินที่สูญเสียจากการแก้ไขสัญญาร่วมการงานตั้งแต่ปี 2544-2558 ทั้งสิ้น 66,060,686,735.94 บาท ทั้งในส่วนคดีแพ่งกับ ‘สุธรรม’ และ ‘AIS’ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาล ที่มีความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาร่วมการงานไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องดำเนินการจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาเดิม นอกจากนี้ ยังมีบอร์ด ทศท.ในสมัยนั้นอีก 7 คนที่ลงมติให้มีการแก้ไขสัญญาด้วย 
 
‘ส่วนเงินที่ได้คืนมานั้น ตนมองว่าควรนำมาบันทึกเป็นรายรับของ NT เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาคืนเป็นโบนัสให้พนักงานตามสัดส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตนเชื่อว่าคดีนี้มีการฟ้องร้องมายาวนาน AIS เองน่าจะมีการสำรองจ่ายในส่วนนี้ไว้แล้วกรณีหากศาลตัดสินว่าสัญญาที่แก้ไขไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาสิ้นสุดแล้วว่าสัญญาที่แก้ไขไม่ถูกต้อง’


นอกจากนี้ ในเบื้องต้นทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เคยแจ้งให้ NT ไปดำเนินการให้ AIS จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลักตามความเห็นของคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ให้ครบตามสัญญาหลักแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

*** NT แจงส่งเรื่องถามอัยการสูงสุด


ขณะที่ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า ได้รับทราบคำสั่งศาลแล้วโดยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการนัดประชุมบอร์ดและมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวแล้วซึ่งตนได้รายงานว่าได้ดำเนินการส่งหนังสือไปสอบถามอัยการสูงสุด เพื่อขอความชัดเจนในการดำเนินการต่อไปแล้วเนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ต้องการความชัดเจน และแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงอยู่ระหว่างการรอหนังสือตอบกลับจากอัยการสูงสุด

***ย้อนรอยคดีแก้ไขสัญญาร่วมการงาน AIS

สำหรับคดีดังกล่าว ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่ในช่วงเดือน ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา และส่งเรื่องอัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยในสัญญาร่วมการงานนั้น AIS ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ปีที่ 1-5 อัตรา 15% ปีที่ 6-10 อัตรา 20% ปีที่ 11-15 อัตรา 25% และปีที่ 16-20 อัตรา 30%

ในขณะที่ AIS มีหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค.2544 ถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าโดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จากเดิมอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตรา 18% ของหน้าบัตร

แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผอ.ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ทศท.ในขณะนั้น เห็นว่ากรณีมิใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และมิใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ เหตุผลไม่สมเหตุผล จึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ และเมื่อเทียบกับเงินที่บริษัทดีแทค จ่ายให้บริษัท กสท.และ ทศท. แล้ว บริษัทดีแทคจ่ายเงินมากกว่า AIS จ่ายให้ ทศท.

ต่อมามีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ เสนอต่อนางทัศนีย์ มโนรถ รอง ผอ.ทศท. และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผอ.การเงินและงบประมาณได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังจากมีการประชุม คณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมแล้ว ได้รับข้อเสนอของ AIS โดยกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตรา 20% คงที่ตลอดอายุสัญญาและ ‘สุธรรม’ ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ทำเอกสารเสนอกรรมการ ทศท.ให้ทันการประชุมครั้งต่อไป

ต่อมาการประชุม ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2544 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่ AIS ขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตรา 25% เหลือ 20% นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าวันทูคอลที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตรา 20% ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับ AIS ให้ได้ข้อยุติก่อน

ส่วนการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่ AIS ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรง ให้กำหนดเงื่อนไขท้ายสัญญาและให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงหลักเกณฑ์เก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป แต่ ‘สุธรรม’ ไม่ได้ดำเนินการเสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของ AIS ให้คณะกรรมการ ทศท.พิจารณาอีกครั้งตามมติคณะกรรมการ ทศท. จนกระทั่งคณะกรรมการ ทศท.ทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2545

‘สุธรรม’ ได้ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้ AIS และกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ วันทูคอล ให้ AIS จ่ายส่วนแบ่งรายได้อัตรา 20% ของมูลค่าหน้าบัตร ทำให้ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตรา 25-30%


กำลังโหลดความคิดเห็น