เทรนด์การโจมตีทางด้านไซเบอร์ที่นับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับการเล็งเป้าหมายไปยังองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยให้รูปแบบการโจมตีมีความหลากหลายขึ้น ทำให้ในปีนี้เชื่อว่า ‘ภัยคุกคามไซเบอร์’ จะยิ่งร้ายแรงขึ้น
ก่อนหน้านี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการเก็บข้อมูลว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และด้วยการที่ในปีนี้เทรนด์ของการทำงานจากที่บ้านยังต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าภัยคุกคามเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเจาะข้อมูลในลักษณะของแรนซัมแวร์ ซึ่งยังเป็นรูปแบบการโจมตีที่แพร่หลายมากที่สุด
นายนักรบ เนียมนามธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 หลายบริษัทใหญ่ๆ ถูกโจรกรรมข้อมูล และเรียกค่าไถ่จำนวนมาก เนื่องจากแฮกเกอร์มีวิธีหลากหลายในการเข้ามาในระบบ และมีเงินทุนที่เข้าไปสนับสนุนทำให้แฮกเกอร์สามารถเล็งเป้าหมายในการจู่โจม เพราะถ้าได้ข้อมูล สามารถนำไปขาย หรือเรียกค่าไถ่ได้
“สิ่งที่ทำให้ภัยคุกคามไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดจากแฮกเกอร์เริ่มนำแมชชีน และ AI มาใช้งานจากแหล่งเงินทุนที่เข้าไปสนับสนุนในการสร้างระบบให้หลบอุปกรณ์ทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีเดิมที่มีกันอยู่ ทำให้ในฝั่งของการเฝ้าระวังต้องมีการนำระบบใหม่เข้ามาใช้งาน”
ขณะเดียวกัน ยังพบว่าเทรนด์ของการโจมตีไซเบอร์ในปีนี้ อุปกรณ์ IoT IIoT และ OT จะตกเป็นเป้าหมายหลัก จากจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่านระบบเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลกว่า 1.5 พันล้านชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในสมาร์ทโฮม สำนักงาน และภายในเมืองอัจฉริยะ
“ในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของ IoT มาใช้ในบ้าน และธุรกิจ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะมีการส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์แบบรวมศูนย์ ทำให้อาจมีช่องโหว่ในการโจมตีได้ จึงควรที่จะเสริมความแข็งแรงของเครือข่ายที่ใช้เชื่อมต่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลที่มีความสำคัญถูกส่งผ่านบนอุปกรณ์พกพาในช่วงเวลาที่ทำงานจากที่บ้าน จึงกลายเป็นอีกจุดที่ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
อีกเทรนด์ที่เกิดขึ้นคือ การลงทุนทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีจะคุ้มค่า เนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้แฮกเกอร์มีรูปแบบการโจมตีในวงกว้าง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อความเสียหายที่ร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ได้
nForce Secure ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้บริการทางด้านซิเคียวริตี ที่จะมีการอัปเกรดระบบใหม่ๆ เข้ามารองรับ และปกป้องการโจมตีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่อย่าง Cyfirma มีความเชี่ยวชาญในแพลตฟอร์มที่สามารถคาดการณ์รูปแบบการโจมตี ทำให้สามารถเฝ้าระวังล่วงหน้าได้
“ส่วนใหญ่องค์กรธุรกิจมีระบบป้องกันแล้ว แต่สิ่งที่ Cyfirma มีคือความเชี่ยวชาญคือการคาดการณ์ในองค์รวมที่จะคอยมอนิเตอร์ว่า มีแฮกเกอร์กลุ่มไหนต้องการข้อมูลประเภทใด ใช้วิธีการแบบไหนในการโจมตี รวมถึงช่วงเวลาที่อาจเกิดการโจมตี ทำให้สามารถเตรียมรับมือภัยคุกคามล่วงหน้าได้”
แน่นอนว่า ในฝั่งป้องกันจึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะป้องกันได้ทั้งหมด 100% จึงต้องดูเทรนด์ในอนาคต เพื่อเตรียมการในการหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาปกป้ององค์กร การเพิ่มโซลูชัน และบริการใหม่เข้ามาจึงช่วยตอบโจทย์องค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลมากขึ้น
ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจของบริการระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ได้หันมาเป็นลักษณะของการสมัครสมาชิก (Subscription) ทำให้ลักษณะของรายได้ที่เข้ามาจะเป็นรายปี และมีรายได้ต่อเนื่องจากการต่ออายุในปีถัดๆ ไป ทำให้ในภาพรวมของธุรกิจรายได้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน
“การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นรูปแบบของสมาชิก จะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้รับการอัปเดตระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็สามารถปรับใช้งานได้ทันที ทำให้ปัจจุบันรูปแบบธุรกิจนี้เริ่มมีสัดส่วนเป็นรายได้หลักมากยิ่งขึ้น”