xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสเตรียมเข้าพบบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ขอวงโคจรไทยคม 5 สร้างดาวเทียมเพื่อความมั่นคงร่วมกับทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัยวุฒิ” จี้บอร์ด NT เร่งหาทีมคุมวงโคจรดาวเทียมดวง 4 และ 6 ภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ หลังพบปัญหาพนักงานที่มาอบรมการควบคุมดาวเทียมงานโหลด ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ด้านปลัดดีอีเอสเผยสนใจวงโคจรดาวเทียมไทยคม 5 เหตุมีทั้งช่องสัญญาณ KU-Band และ C-Band ขณะที่วงในเผยดีอีเอสเตรียมทำสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหม พร้อมเข้าพบบอร์ด กสทช.ชุดใหม่หวังขอวงโคจรไทยคม 5 ทำดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศร่วมกับทหาร

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ได้ติดตามความคืบหน้าในการส่งมอบสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 จากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องบุคลากรในการควบคุมวงโคจรดาวเทียมดวง 4 และ 6 ไม่เพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งต้องใช้วิศวกรด้านนี้จำนวน 24 คน ทว่าบุคลากรที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ส่งมาอบรมการใช้งานร่วมกับวิศวกรไทยคมเดิมมีเพียงไม่กี่คนและเป็นผู้ที่มีงานประจำในการทำงานเดิมที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของ NT เดิมอยู่แล้ว

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) NT หาแผนในการคัดเลือกบุคลากรมาใหม่หรือหาเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ โดยต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เช่น ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทำงานคุมวงโคจรดาวเทียมต่อจากไทยคมได้ ซึ่งไทยคมเองยินดีฝึกและเป็นพี่เลี้ยงในการคุมวงโคจรดาวเทียมให้กระทรวงดีอีเอสเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่ น ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสยังคงสนใจวงโคจรของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งตัวดาวเทียมนั้นไม่สามารถให้บริการได้แล้ว ทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการอยู่นั้นไทยคมได้ย้ายลูกค้าให้ไปใช้ดาวเทียมของต่างชาติ ส่วนวงโคจรอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งไทยคม 5 อยู่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ออกแบบมาเพื่อให้บริการด้านบรอดคาสต์และด้านสื่อต่างๆ มีช่องสัญญาณ KU-Band กำลังสูง เหมาะสำหรับผู้ให้บริการ DTH ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งยังมีช่องสัญญาณ C-Band แบบ Global Beam ครอบคลุมพื้นที่ 4 ทวีปรองรับผู้ใช้บริการในเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา มั่นใจว่ากระทรวงดีอีเอสจะสามารถสร้างดาวเทียมและให้บริการได้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสต้องหารือและทำสัญญากับกระทรวงกลาโหมในการสร้างดาวเทียมเพื่อความมั่นคง เนื่องจากทหารต้องการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง ตามนโยบายเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้นจึงต้องหารือกับบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ด้วยว่าจะสามารถขอวงโคจรมาทำดาวเทียมเพื่อความมั่นคง เพราะหากทำเพื่อความมั่นคงอย่างเดียวสามารถทำได้โดยไม่ต้องประมูล หรือหากต้องการทำเชิงพาณิชย์ด้วยอาจต้องเข้าสู่กระบวนการประมูล หรือบอร์ด กสทช.อาจทบทวนและสร้างหลักเกณฑ์ในการจัดสรรวงโคจรใหม่ก็เป็นไปได้

ประเด็นคือ การสร้างดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 1 ดวงนั้นต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท และใช้เวลาสร้าง 1-2 ปี ดังนั้น กระทรวงดีอีเอสต้องมีแผนงาน ทีมงาน และงบประมาณที่ชัดเจน เพื่อให้ NT สามารถบริหารงานแทนกระทรวงดีอีเอสได้ ซึ่งยอมรับว่าการคุมวงโคจรดาวเทียมเป็นเรื่องใหม่ แม้ว่า NT อยู่ในธุรกิจดาวเทียมก็จริง แต่เป็นการทำงานภาคพื้นดิน ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการคุมวงโคจรดาวเทียมที่ต้องอาศัยการฝึกอบรมและประสบการณ์ในการทำงาน และการจ้างวิศกรที่เชี่ยวชาญต้องมีค่าจ้างเดือนหลักแสนบาทต่อคน เทียบเคียงจากค่าแรงของพนักงานเดิมของไทยคมที่ดูแลอยู่

ปัจจุบัน NT มีบุคลากรที่ดูแลดาวเทียมทั้งสิ้นประมาณ 700 คน ครึ่งหนึ่งอายุเกิน 50 ที่เหลืองานประจำด้านภาคพื้นดินเดิมก็ล้นมือ และยิ่งต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษด้วย อาจเหลือคนไม่ถึง 10 คน ในการทำงานควบคุมวงโคจรดาวเทียม และกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจการควบคุมวงโคจรดาวเทียมต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี แต่ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอสเพิ่งมีความชัดเจนให้คนของ NT มาอบรมกับไทยคมในเดือน ก.ค.2564 ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.2564 ซึ่งจริงๆ ตามสัญญาสัมปทานต้องดำเนินการเรียนรู้ก่อน 1 ปีก่อนที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน จนปัจจุบันคนอบรมยังไม่ได้ใช้เครื่องมือในการคุมวงโคจรจริง มีแต่เพียงเรียนรู้ด้วยการนั่งดูเฉยๆ เหมือนขับรถแต่ไม่ได้จับรถ เรื่องออกถนนใหญ่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีเอสไม่ได้แจ้งให้ชัดเจนว่า บุคลากร NT ที่มาอบรมนั้นจะต้องทำงานประจำอยู่ที่ไทยคม แคราย เพื่อคุมวงโคจรอย่างเดียว ทำให้ NT ส่งคนที่มีงานประจำอยู่แล้วมาอบรมไปก่อนเพราะคิดว่ากระทรวงจะหาคนมาในภายหลัง เมื่อคน NT มีงานประจำอยู่แล้ว ใครจะกล้ามาทำงานในงานใหม่นี้ ซึ่งหากดูตามอายุของดาวเทียมที่รับมอบมาจากไทยคมอาจมีอายุงานไม่ถึง 10 ปี เพราะไทยคม 4 มีอายุวิศวกรรมอีก 2 ปี และไทยคม 6 มีอายุวิศวกรรมอีก 8 ปี คนที่มาทำงานตำแหน่งนี้จะมีแผนการทำงานให้เขาต่อไปอย่างไร และหากอายุการใช้งานของดาวเทียมหมดก่อนและชำรุดเหมือนดวงที่ 5 บวกกับด้วยความไม่ชำนาญในการคุมวงโคจร อาจมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บริษัทประกันอาจไม่ยอมรับประกันความเสียหายเพราะเป็นความเสียหายจากผู้ทำงานที่ไม่มีประสบการณ์ เหมือนนักบินที่ต้องสะสมประสบการณ์ในการเป็นผู้ช่วยนักบินก่อนถึงจะเป็นกัปตันได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจึงอาจเกิดความเสี่ยงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น