xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมองคนรุ่นใหม่ ปัญหา ‘ไซเบอร์บูลลี่’ ที่สังคมต้องเริ่มตั้งคำถาม (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการที่ปัจจุบัน เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจถึงปัญหาไซเบอร์บูลลี่ที่เกิดขึ้นในสภาพสังคมปัจจุบันที่โลกออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ในมุมของผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เปิดช่องทางในการเข้าถึงดิจิทัลให้แก่คนไทย ‘ดีแทค’ จึงมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบภายใต้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในประเทศไทย

โดยที่ผ่านมากว่า 5 ปี ดีแทค ได้สร้างการรับรู้ต่อปัญหาไซเบอร์บูลลี่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ผลักดันนโยบายสาธารณะต่างๆ ให้เกิดขึ้น พร้อมกับงานสื่อสารสาธารณะและงานวิจัย ร่วมกับการหาทางออก และพัฒนาโซลูชันเพื่อแก้ไขปัญหา

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในเวลานี้ทุกคนรับรู้ถึงเรื่องของดิจิทัล ดิสรัปชันว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร ด้วยการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ขณะเดียวกัน ดิจิทัล ดิสรัปชัน ก็มีมุมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและชีวิตคนโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ที่กลายเป็นช่องทางเปิดให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายขึ้น

‘ในการดำเนินธุรกิจของดีแทค จะมีการสอบทานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระบวนการดำเนินธุรกิจมีส่วนไหนที่สินค้าและบริการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ’

หลังจากสอบทานแล้ว พบว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงโลกออนไลน์ จากการให้บริการอยู่แล้วโดยเฉพาะจากพฤติกรรมการใช้งานที่ในแต่ละวันมีโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะอยู่ในโลกออนไลน์กว่า 11 ชั่วโมง

ดังนั้น ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในโลกออนไลน์อยู่ในความเสี่ยง ประกอบกับปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นสำคัญที่เยาวชนตระหนักถึงทำให้ทางโอเปอเรเตอร์มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการร่วมกันแก้ปัญหา และบรรเทาความรุนแรงของปัญหานี้ด้วย

‘ตอนนี้สังคมต้องช่วยกันเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า วิถีชีวิตที่คอยทักกันว่า อ้วน ผอม ยังโอเคอยู่มั้ย หรือสังคมเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้แล้ว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงศึกษา ต้องเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร’

นอกจากนี้ ยังมองว่าในสังคมปัจจุบันคนไทยเรียนรู้แล้วว่าไซเบอร์บูลลี่คืออะไร ไม่ใช่เวลาที่จะต้องมาสร้างการรับรู้กันอีกแล้ว แต่ต้องนำข้อมูลที่เกิดขึ้นมาจัดระเบียบร่วมกันบนโลกออนไลน์ สร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และหวังว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มเห็นแนวคิดที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

***3 ประเด็นกลั่นแกล้งออนไลน์ที่ควรให้ความสำคัญ

หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปิดระดมความเห็นที่ดีแทคทำงานร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าไปรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ (Gen Z) โดยไม่มีการนำกรอบความคิดหรือทฤษฎีต่างๆ เข้าไปชี้นำ จนได้ข้อสรุปออกมาเป็น 3 ประเด็นหลักที่คนออนไลน์มองเห็นปัญหาของไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ในสังคมไทย


ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ มักจะมาจากมุมของผู้ใหญ่ที่ปรารถนาดีในการเข้าไปช่วยแก้ไข ทำให้มีการนำกรอบความคิด หรือทฤษฎีบางอย่างเข้าไปชี้นำ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต

‘จากความเห็นของคนออนไลน์รุ่นใหม่ สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยในมิติทางสังคม ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวล้วนต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน สื่อ และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดและกำกับนโยบาย’

โดยจากการรับฟังความเห็น และรวบรวมสรุปออกมาแล้ว พบว่า 3 ประเด็นหลักที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจคือ 1.การวิจารณ์รูปร่าง (Body Shaming) ในสัดส่วนสูงถึง 56% 2.ความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Gender Inequality) สัดส่วน 23% และ 3.การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 21%


สำหรับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น ทุกคนในสังคมตระหนักและเคารพเรื่อง ‘ความแตกต่างที่หลากหลาย’ (Diversity) ในร่างกายมนุษย์ไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น พร้อมกับควรสร้างโอกาสให้ทุกคนเท่ากันโดยไม่ตัดสินจากรูปร่างหน้าตาที่เหนือกว่าผู้อื่น (Beauty privilege) สร้างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ให้มีในตัวเด็กทุกคน และให้คุณค่ากับความแตกต่างมากกว่าการสร้างมาตรฐานความงาม

ที่สำคัญ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษทางกฎหมายและกำหนดให้มีหน่วยงานราชการทำหน้าที่ในการช่วยเยียวยาเหยื่อจากไซเบอร์บูลลี่ เมื่อกระบวนการทางกฎหมายจบลง

‘Cyberbullying ถือเป็นการละเมิดโดยที่คนกระทำไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้ามองย้อนกลับไปคือการใช้อำนาจในทางที่ผิดและคนที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องถูกบังคับให้ยินยอม ส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม ในการสร้างสังคมใหม่ Cyberbullying เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำร่วมกันได้ ในแง่ของการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนให้มองในแง่ของความหลากหลายในสังคมและนำไปสู่วัฒนธรรมออนไลน์ที่ดี’


ขณะที่ประเด็นการคุกคามทางเพศนั้น คนรุ่นใหม่มองว่าควรมีการยกระดับและส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ สอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในร่างกายของผู้อื่น ไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนทัศนคติชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างทัศนคติต่อต้านไซเบอร์บูลลี่และการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อ


สุดท้ายในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรมีการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ให้โอกาสทุกเพศ และทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ

‘ในเวลานี้ตัวตนในโลกออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากในโลกจริงที่มีวัฒนธรรม มีรากของวิธีคิดที่ฝังอยู่มานานแล้ว ซึ่งถูกวิวัฒนาการมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้ความน่าสนใจกลับมาอยู่ที่โลกออนไลน์ ซึ่งเป็นโลกใหม่ที่ทุกคนเท่ากัน เพราะฉะนั้นโจทย์จึงกลับไปอยู่ที่ว่าจะสร้างวัฒนธรรมออนไลน์ใหม่ที่เป็นของทุกคนได้อย่างไร’


การสร้างวัฒนธรรมออนไลน์ รากอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ เรื่องของ Cyberbullying ที่จะเป็นจุดเริ่มต้น เพราะในโลกออนไลน์จะทำให้สามารถใช้ความเท่ากันไปรังแกคนอื่นได้เหมือนกัน ขณะเดียวกัน ในการสร้างบรรทัดฐาน (นอร์ม) จะมีการกระจัดกระจายสูง แต่ถ้ามีค่าตั้งต้นที่จะมีคนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยในเรื่องไหน สิ่งที่ดีแทคทำคือสร้างค่าตั้งต้นที่ไม่ได้คาดหวังให้คนเห็นด้วยทั้งหมด แต่แสดงให้เห็นว่าคนที่เป็น Gen Z ส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้สังคมร่วมกันสร้างบรรทัดฐานใหม่ ผ่านโครงการสัญญาใจ ที่จะรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสังคมออนไลน์ไปด้วยกัน เพื่อ#ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา


กำลังโหลดความคิดเห็น