รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยไทยเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน บรรเทา เยียวยา และแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ เร่งขับเคลื่อนมาตรการภาคบังคับและสมัครใจ ครอบคลุมด้านแรงงาน ชุมชน-สิ่งแวดล้อม ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน การลงทุนระหว่างประเทศ
วันนี้ (6 ม.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อ 29 ต.ค. 2562 โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศของโลก ที่ได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ และประชาสังคม ดำเนินการส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน บรรเทา เยียวยา และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากการทำธุรกิจ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ในการนี้ รัฐบาลมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยมีผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของแผนฯ ประเด็นหลักๆ ใน 4 ด้าน ดังนี้
ด้านแรงงาน : 1) การกําหนดมาตรการลดหย่อนภาษีให้ภาคธุรกิจที่จ้างงานผู้พ้นโทษ 2) การบริหารจัดการแรงงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19 3) การประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการขจัดการเลือกปฏิบัติในที่ทํางาน
ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม: 1) การกําหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลการดําเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบOneReport 2)การจัดต้ังศูนย์ ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในระดับพื้นท่ีทั่วประเทศ 3) กำหนดให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าจากวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ด้านนักปกป้องสิทธิมนษุยชน : 1) การยกร่างกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ 2) การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ในคดีอาญา เพื่อขยายขอบเขตบคุคลที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฯ 3) การศึกษามาตรการที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ : 1) การเพิ่มเงื่อนไขในการตรวจประเมินสิทธิมนุษยชน ก่อนการให้เงินกู้สําหรับดําเนินโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน 2) การลงนามและดําเนินการตาม MOU ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ยึดถือหลักการเงินที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Financing) และส่งเสริมหลักการ สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล 4) การจัดทํารูปแบบสัญญามาตรฐานที่เพิ่มประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะต้องพิจารณาเมื่อมีการเจรจาการค้าหรือการลงทุน
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดตามการดำเนินงานให้เป็นตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เสริมสร้างการทำงานภาคีเครือข่ายร่วมกัน ยกระดับให้ประเทศไทยมีหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนที่ทัดเทียมกับสากล ท้ายที่สุดส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มั่นคง ปลอดภัย อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และท่านนายกฯ ยังได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐวิสาหกิจและภาคธุรกิจให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ มีการดำเนินการ อาทิ ออกคำแถลงนโยบายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนขององค์กร กำหนดแนวปฏิบัติของในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งขยายผลต่อยอดการปฎิบัติตามแผนฯในภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมต่อไป