ปี 2564 ภาพการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทยนั้นถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีปัจจัยบวกเข้ามาทั้งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน และทำงานออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G ที่เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ในปี 2564 นี้ บรรดาแบรนด์สมาร์ทโฟนต่างแข่งขันกันชิงส่วนแบ่งตลาดได้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอันดับของท็อป 3 ที่เกิดขึ้น อย่างการที่เสียวหมี่ เบียดแซงซัมซุงขึ้นมาเป็นผู้นำในไตรมาส 2 ก่อนที่ในไตรมาส 3 จะตกไปเป็นอันดับ 4 ตามหลังออปโป้ และวีโว่
เหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงผันผวนเป็นอย่างมาก มาจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ ปัญหาการขาดแคลนชิปเซ็ตที่ส่งผลกระทบต่อทุกแบรนด์ และปัญหาเรื่องราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
โดยซัมซุง ถือเป็นแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบในแง่การขาดแคลนชิปเซ็ตมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากต้องทุ่มกำลังผลิตให้สมาร์ทโฟนแฟลกชิปอย่าง Galaxy S21 ซีรีส์ ก่อนที่จะกลับมาแข็งแกร่งจาก Galaxy A ซีรีส์ในช่วงไตรมาส 3 ประกอบกับการมาของ Galaxy Z Fold3 และ Galaxy Z Flip3 ที่ส่งผลให้ซัมซุงกลับขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดอย่างแข็งแกร่ง
ในขณะที่เสียวหมี่ หลังจากร้อนแรงในช่วงครึ่งปีแรกจาก Xiaomi 11 ซีรีส์ในช่วงต้นปีและโฟกัสในสมาร์ทโฟนรุ่นเริ่มต้นอย่าง Redmi ในช่วงไตรมาส 2 ที่มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า พอมาในช่วงไตรมาส 3 กลับแผ่วลง ก่อนจะกลับมาด้วย Xiaomi 11T ซีรีส์ในช่วงปลายปี
ส่วนออปโป้ วีโว่ รวมถึงเรียลมี ถือว่ายังได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด โดยเฉพาะ OPPO Reno 6 ซีรีส์ที่เติบโตถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับ Reno 5 ส่วนวีโว่ได้กำลังซื้อจากกลุ่มของ vivo Y ซีรีส์ ในระดับราคากลางๆ และเรียลมีที่มีส่วนแบ่งจากตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางถึงล่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแอปเปิล ยังคงกลับมาอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสสุดท้ายของปี หลังการเปิดตัว iPhone 13 ซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาชิปเซ็ตจึงทำให้ในช่วงแรกได้รับผลกระทบจากสินค้าขาดสต๊อกเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า หนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ได้รับการตอบรับอย่างดีในตลาดสมาร์ทโฟนปีนี้ คือสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G โดยเฉพาะในระดับราคาเริ่มต้นประมาณ 9,000 บาท ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะลดลงเหลือราว 7,000-8,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น
*** ‘ออปโป้’ หวังขึ้นเบอร์ 1 ด้วยแฟลกชิป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องต้นปี 2565 จะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์สมาร์ทโฟนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการที่ OPPO ออกมาบุกตลาดสมาร์ทโฟนจอพับได้ เพื่อยกระดับแบรนด์ขึ้นสู่พรีเมียมแฟลกชิป ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาเสริมมากยิ่งขึ้น
ชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันออปโป้มีฐานลูกค้าในกลุ่มเริ่มต้น และระดับกลางค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มหันมาเน้นพัฒนาสินค้าในกลุ่มไฮเอนด์มากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าในปี 2565 ที่จะถึงนี้จะมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตในกลุ่มนี้เพิ่มเติม
‘ความสำเร็จของออปโป้ในปีนี้คือสัดส่วนยอดขายในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคา 15,000 บาท ขึ้นไปเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 6 เท่า ถ้านับเฉพาะในกลุ่มไฮเอนด์อย่าง Find X ซีรีส์ เติบโตขึ้นถึง40%’
ขณะเดียวกัน ยังเปิดเผยถึงเป้าหมายของออปโป้ ที่ต้องการขึ้นเป็นแฟลกชิปสมาร์ทโฟนเบอร์ 1 ในตลาดให้ได้ แม้ว่าในตลาดสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์จะได้รับผลกระทบของการขาดแคลนชิปเซ็ตต่อเนื่องก็ตาม แต่จากการที่ออปโป้ ให้ความสำคัญกับประเทศไทย จึงเชื่อว่าสามารถจัดสรรสินค้ามาได้เพียงพอต่อความต้องการแน่นอน
โดยหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในไทยปี 2565 คือ สมาร์ทโฟนจอพับ ที่ปัจจุบัน OPPO Find N เริ่มทำตลาดในประเทศจีนแล้ว และมีโอกาสที่จะขยายออกมาในตลาดโลก ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยถือเป็นเทียร์ 1 ในการทำตลาด
รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของอีโคซิสเต็มที่จะมาเสริมประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้อย่างแว่นตาอัจฉริยะ Air Glass และไฮไลต์สำคัญในช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2565 คือ สมาร์ทโฟนในซีรีส์ Find X ที่จะมีการนำชิปประมวลผลภาพรุ่นใหม่ Marisilicon X ที่ออปโป้พัฒนาขึ้นมาไปใช้งานเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการถ่ายภาพให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
*** ‘เรียลมี’ ขอติดท็อป 3 จากเรือธงราคาคุ้มค่า
อีกแบรนด์ที่น่าจับตามองคงหนีไม่พ้น เรียลมี ที่ปัจจุบันขึ้นมาเป็นท็อป 5 ในตลาดสมาร์ทโฟนไทยแล้วจากการจัดอันดับของ Canalyst พร้อมกับตั้งเป้าหมายในการขยับขึ้นสู่ท็อป 3 ภายในปี 2565 นี้
ศิรศร เบญจาธิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ เรียลมี ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าในปี 2565 เรียลมีจะเดินหน้ากลยุทธ์ในการผสมผสานสมาร์ทโฟนเข้ากับอุปกรณ์ AIoT เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้แก่ผู้ใช้งาน
‘เรียลมียังคงเน้นการนำเสนอสมาร์ทโฟนในราคาที่จับต้องได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม realme GT ซีรีส์ ที่จะเป็นรุ่นพรีเมียมที่สุดในระดับราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยจะมากับชิปเซ็ตรุ่นใหม่ รองรับการชาร์จเร็ว และกล้องที่พัฒนาขึ้นจากเดิม’
เบื้องต้น realme GT 2 มีโอกาสที่จะเข้ามาทำตลาดในช่วงต้นปี 2565 และทางเรียลมี วางแผนที่จะขยายแบรนด์ชอปเป็น 120 แห่งทั่วประเทศ จากในปีนี้ที่มีอยู่ราว 75 แห่ง เช่นเดียวกับการเพิ่มสัดส่วนสมาร์ทโฟน5G เป็น 70% ของแบรนด์ รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 30 รุ่น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ขึ้นมาอยู่ราว 15% เพื่อเป็นอันดับ 3 จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งอยู่ที่ราว 9-10%
***จับตา ‘หัวเว่ย’ พร้อมลุยตลาดพรีเมียม
ในปี 2565 มีโอกาสที่หัวเว่ย จะกลับมาโลดแล่นในตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้ง หลังจากในช่วงปีนี้ประเดิมกลับสู่ตลาดด้วยรุ่นกลางอย่าง nova 9 ที่มาพร้อม HarmonyOS เวอร์ชันใหม่ ซึ่งมีแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานเพิ่มขึ้น จนสามารถกลับมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้แล้ว
วรุฒ สิริเกษมสุข ผู้จัดการฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2565 หัวเว่ยจะมุ่งมั่นเดินหน้าทำตลาดในกลยุทธ์ 1+8+N อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอทั้งสมาร์ทโฟนที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว พร้อมกับสินค้าในกลุ่มอีโคซิสเต็มที่สามารถเชื่อมต่อทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อทั้งสมาร์ทวอทช์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ มอนิเตอร์ จนถึงสมาร์ททีวี
‘ในปีนี้ผู้ผลิตเริ่มเห็นถึงอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งของหัวเว่ยในผลิตภัณฑ์ไอทีมากขึ้น เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค ในช่วงต้นปีหัวเว่ยจะมีการนำสมาร์ทโฟน HUAWEI P50 Pro และ P50 Pocket เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างแน่นอน’
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในแง่ของชิปเซ็ตทำให้ทั้ง P50 Pro และ P50 Pocket ยังรองรับเฉพาะการเชื่อมต่อ 4G เท่านั้น ทำให้อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสมาร์ทโฟนรองรับ 5G ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หัวเว่ย มองว่า ด้วยการใช้งาน 4G บนสมาร์ทโฟนปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้วและเชื่อว่า P50 ซีรีส์ทั้ง 2 รุ่นจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากตลาด
จุดเด่นของ P50 ซีรีส์ ยังคงอยู่ที่ดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคโดยเฉพาะในแง่ของการถ่ายภาพที่โดดเด่นกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นในเวลานี้ และเชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้ใช้ที่เห็นถึงความพร้อมของอีโคซิสเต็มของหัวเว่ยใช้งานแน่นอน
***รอความเคลื่อนไหว ‘ซัมซุง’ ยุคใหม่
ปิดท้ายที่แบรนด์ผู้นำตลาดในเวลานี้อย่างซัมซุง หลังจากในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการรวมธุรกิจมือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นฝ่ายธุรกิจสร้างประสบการณ์ลูกค้า (DX : Device eXperience)
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ซัมซุงจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อย่าง Galaxy S21 FE ในช่วงต้นปี 2565 ด้วยการสานต่อความสำเร็จของรุ่น Fan Edition ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับด้วยการนำจุดเด่นของ Galaxy S21 ซีรีส์ที่โดดเด่นทั้งเรื่องหน้าจอแสดงผล กล้องถ่ายภาพที่มั่นใจได้ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้ในช่วงต้นปีหน้าจะได้เห็นซัมซุง กลับมาเดินเกมรุกในตลาดสมาร์ทโฟนต่อเนื่องตลอดทั้งปี ประเดิมด้วย S21 FE ต่อเนื่องด้วย S22 ที่คาดว่าจะกลับไปใช้ช่วงเวลาเปิดตัวในปลายไตรมาส 1 ต่อเนื่องด้วย Galaxy Z ซีรีส์ ในช่วงไตรมาส 3 เช่นเดิม