ภาพของการเป็นผู้นำตลาดทั้งสมาร์ทโฟน และบรรดากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะโทรทัศน์ ทำให้ปัจจุบัน ซัมซุง (Samsung) ถือเป็นแบรนด์ไอทีใหญ่รายเดียวเท่านั้นที่มีสินค้าครอบคลุมและตอบโจทย์การใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแบบครบครัน
แต่ใช่ว่าการที่เป็นผู้นำอยู่แล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะจากการประกาศปรับโครงสร้างล่าสุดของ ซัมซุง ที่รวมแผนกคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เข้ากับธุรกิจไอทีและโทรคมนาคม หรือแผนกมือถือ ได้กลายเป็นสัญญาณสำคัญบ่งบอกว่า ซัมซุง จะก้าวเข้าสู่ทศวรรษถัดไปอย่างแข็งแกร่ง
จากเดิมที่โครงสร้างธุรกิจของซัมซุงที่แยกธุรกิจออกมาเป็น 3 หน่วยหลัก ประกอบด้วยกลุ่มคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Consumer Electronics : CE) กลุ่มธุรกิจไอทีและโทรคมนาคม (IT & Mobile Communications : IM) และกลุ่มธุรกิจดีไวซ์และโซลูชัน (Device Solutions : DS)
เมื่อดูจากรายได้ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาจะพบว่า ซัมซุงมีรายได้รวมทั้งหมด 73.98 ล้านล้านวอน แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจ DS ราว 35 ล้านล้านวอน คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งของรายได้ ตามด้วยธุรกิจ IM 28 ล้านล้านวอน และธุรกิจ CE 14.1 ล้านวอน
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันธุรกิจ DS ที่ซัมซุงเป็นทั้งผู้ผลิตชิปเซ็ตประมวลผล เซมิคอนดักเตอร์ ชิปเซ็ตหน่วยความจำ จนถึงธุรกิจจอภาพต่างๆ ได้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความต้องการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคตตามเทรนด์ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ 5G ที่แพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจมือถือนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนจอพับ 2 รุ่นใหม่ และทำให้ซัมซุงกลับมาเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้งในปีนี้ ส่วนธุรกิจคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังอยู่ในช่วงของการปรับฐาน เนื่องจากต้นทุนของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากกลุ่มพรีเมียมเป็นหลัก
หลังจากการปรับโครงสร้างจะทำให้ธุรกิจหลักของซัมซุงย่อยลงมาเป็น 2 หน่วยธุรกิจ ด้วยการแต่งตั้งซีอีโอร่วม (co-CEO) คือ ‘JH Han’ ที่เดิมดูแลธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ขึ้นมารับหน้าที่ใหม่ในกลุ่มธุรกิจ SET Division ซึ่งรวมธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า กับไอทีและโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน
ส่วนในกลุ่มธุรกิจ DS ได้แต่งตั้ง ‘Kyehyun Kyung’ ที่มีประสบการณ์ดูแลธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างนวัตกรรม รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต รับกับการเป็นหน่วยธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ และกำไรให้แก่ซัมซุงมากที่สุดในปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจชิปเซ็ตมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซัมซุงเพิ่งประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ในเมืองไทเลอร์เทกซัส คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นกว่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญ และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 2.05 แสนล้านเหรียญ พร้อมสร้างงานกว่า 40,000 ตำแหน่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า
โดยการปรับโครงสร้างในครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 ที่ในช่วงเวลานั้น ซัมซุงแต่งตั้งซีอีโอ 3 คน แยกออกไปดูแลแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโต
ซัมซุง ระบุสั้นๆ ในแถลงการณ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ว่า ‘จะเป็นก้าวสำคัญของบริษัทเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจที่แข่งขันได้’
***รวมธุรกิจสร้างอีโคซิสเต็ม
ก่อนหน้านี้ ซัมซุงเผยให้เห็นถึงเทรนด์ของผู้บริโภคที่จะใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น หลังจากผ่านทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์ล็อกดาวน์ต่างๆ จนทำให้กำลังซื้อของธุรกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมของผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ซัมซุงจึงหันมาโฟกัสกับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มพรีเมียมที่เข้าไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลาย พร้อมกับขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับเริ่มผสมผสานความอัจฉริยะเข้าไปในสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะการทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากลายเป็นอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่มีจุดศูนย์กลางคือสมาร์ทโฟน และสมาร์ททีวี ในการสั่งงานไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ภายในบ้าน
แน่นอนว่า เหตุผลนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในที่มาของการรวมธุรกิจมือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เพื่อให้การพัฒนาอีโคซิสเต็มของ ซัมซุง แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปแข่งขันกับแอปเปิล ที่ปัจจุบันแสดงให้เห็นแล้วว่าการมีอีโคซิสเต็มสที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร
ที่ผ่านมา แอปเปิลเริ่มนำระบบอีโคซิสเต็มมาใช้งานได้อย่างน่าสนใจ ทั้งการเชื่อมต่อใช้งานระหว่างไอโฟน กับคอมพิวเตอร์แมค ต่อเนื่องมายังไอแพด และปัจจุบันขยายไปทั้งนาฬิกาแอปเปิล วอทช์ หูฟังอย่างแอร์พอด แอปเปิลทีวี ลำโพงอัจฉริยะ จนถึงการใช้งานในรถยนต์อย่างแอปเปิล คาร์เพลย์
ในขณะที่ปัจจุบัน การเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อของซัมซุงจะสมบูรณ์เฉพาะในกลุ่มของธุรกิจมือถือเท่านั้น อย่างการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หูฟัง นาฬิกา แต่เมื่อข้ามไปยังกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า จะยังเชื่อมต่อได้ไม่สมบูรณ์แบบ ทำได้เพียงการสั่งงานเบื้องต้นเท่านั้น
ประกอบกับที่ผ่านมา ซัมซุงได้ลงทุนในหน่วยงานวิจัยและพัฒนาอย่าง Samsung Research ต่อเนื่อง เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในหน่วยธุรกิจ SET Division โดยเฉพาะครอบคลุมทั้งในฝั่งของเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่รวมทั้งหน้าจอแสดงผล และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ
จากรายงานล่าสุดของไอซีดี ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซัมซุงยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 20.8% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากว่า 14.2% จากปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลน โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นที่มียอดขายสูง รวมถึงปัญหาความล่าช้าในการขนส่ง จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นด้วย
ขณะที่ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไอทีสวมใส่ได้ ซัมซุง ครองที่ 2 ในส่วนแบ่งตลาดราว 9.2% ใกล้เคียงกับเสียวหมี่ ที่เดิมอยู่ในอันดับที่ 2 แต่ตกลงมาเนื่องจากกำลังปรับธุรกิจมาเน้นสมาร์ทวอทช์มากขึ้น จากเดิมที่ทำตลาดสมาร์ทแบนด์เพื่อวัดข้อมูลสุขภาพเป็นหลัก ในขณะที่ซัมซุงนั้นมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากการที่เปลี่ยนระบบปฏิบัติการที่ใช้งานใน Galaxy Watch 4 จาก Tizen ที่พัฒนาขึ้นเองมาใช้งาน Wear OS ของทางกูเกิล
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายมองตรงกันว่า การรวมธุรกิจในครั้งนี้ของซัมซุงจะทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากในการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ของซัมซุงเข้าด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่แต่ละหน่วยธุรกิจมีความคล่องตัวในการทำงานเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ช้าลงหรือไม่ โดยเฉพาะการที่ Co-CEO อย่าง JH Han ที่จะรับหน้าที่ดูแลธุรกิจ SET Division นั้นไม่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจมือถือมาก่อน
***ธุรกิจชิปเซ็ตดาวรุ่งพุ่งไม่หยุด
ย้อนกลับมามองอีกหนึ่งธุรกิจย่อยที่มีความสำคัญมากขึ้นของซัมซุง คือในกลุ่มของ Device Solution ที่ประกอบด้วยธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ และธุรกิจผลิตแผงหน้าจอ ซึ่งกลายเป็น 2 ธุรกิจที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในตลาด และที่สำคัญคือไม่ใช่เฉพาะในตลาดไอทีเท่านั้นที่ต้องการ แต่ขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นด้วย
เบื้องต้น ไอดีซีคาดการณ์ว่า ธุรกิจพีซีในปี 2022 จะมีการเติบโตช้าลง เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทั้งคอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊กมียอดการเติบโตพุ่งสูงขึ้นจากความต้องการใช้งานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกลุ่มที่มีกำลังซื้อจะอยู่ในฝั่งขององค์กรธุรกิจเป็นหลัก ในขณะที่ฝั่งของคอนซูเมอร์จะเป็นการเปลี่ยนสินค้าใหม่ตามรอบใช้งานมากกว่า ไม่ได้มีปัจจัยใดมากระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเหมือนช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับจากเทรนด์การทำงานของอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ทำให้ปัจจุบันนอกจากสินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตแล้ว ชิปหน่วยความจำยังมีความจำเป็นในการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า จนถึงรถยนต์ ทำให้ธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต โดยเฉพาะการที่ซัมซุงมีนวัตกรรมในการผลิตชิปเซ็ตบนสถาปัตยกรรมแบบ 3 นาโนเมตร ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากตลาด
ขณะที่ในธุรกิจหน้าจอแสดงผลนั้น หน้าจอ OLED มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในท้องตลาดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มโทรทัศน์ระดับพรีเมียม รวมถึงในกลุ่มสมาร์ทโฟนที่ใช้งานจอ OLED ซึ่งจะเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสมาร์ทโฟนสู่ 5G ของผู้บริโภคด้วย
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในส่วนของการบริหารงาน และพัฒนาสินค้าออกมาให้รับกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น ส่วนในอนาคตแต่ละประเทศรวมถึงไทยจะมีการรวมหน่วยธุรกิจนี้เมื่อใด ต้องติดตามกันต่อไป