AIS 5G Business เดินหน้าเปิดให้บริการ 5G Private Network ในโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับพันธมิตร สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย และผู้ให้บริการโซลูชัน เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ นำระบบหุ่นยนต์ขนย้ายอัตโนมัติใช้ในโรงงานยาวาต้า ยกระดับโรงงานสู่ Smart Factory
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า AIS ลงทุนอย่างมากในการวางโครงข่ายดิจิทัล โดยเฉพาะในการขยายเครือข่าย 5G แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างแพลตฟอร์มที่เข้าไปช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำไปใช่งานร่วมกับโซลูชันเพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้
“5G ในฝั่งของภาคธุรกิจจะเข้ามาปลดล็อกการทำงานหลากหลายรูปแบบที่ช่วยสร้างผลประโยชน์ในแนวกว้าง โดยเฉพาะ 5G Private Network ถือเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรม”
เพียงแต่ในการพัฒนา 5G เพื่ออุตสาหกรรม จะไม่เกิดได้เลยถ้าไม่ได้ความร่วมมือของพันธมิตร ด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาคม ผสมผสานกับความสามารถของผู้ประกอบการเทคโนโลยีในตลาด ซึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ เป็นประสบการณ์ที่ดี และจะสร้างอิมแพกต์ให้แก่อุตสาหกรรมในไทย
สำหรับการนำไปใช้งานจริงในครั้งนี้ภายในโรงงานของยาวาต้า ที่เป็นโรงงานผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างซับซ้อนในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบแต่ละจุด ด้วยระบบ Autonomous Mobile Robots หรือ AMRs ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนย้ายสินค้าอัตโนมัติซึ่งต้องเคลื่อนที่อย่างอิสระในพื้นที่ทั้งหมดของโรงงานโดยไม่มีเส้นนำทางบนพื้นเหมือนระบบเก่า จึงต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่เสถียร มีความหน่วงต่ำ มีความปลอดภัยสำหรับการรับส่งข้อมูล และมีพื้นที่ครอบคลุมอย่างแท้จริงในโรงงาน
เมื่อนำมาใช้กับ AIS 5G Private Network สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความแม่นยำในการสั่งการ สามารถเพิ่ม Productivity ได้ตามเป้าหมายการเป็น Smart Factory เต็มรูปแบบ
อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโซลูชัน Smart Factory ซึ่งทุกองค์ประกอบ เช่น Robotics, AMR และ PLC ของระบบ IIoT จะต้องเชื่อมต่อกันผ่าน OT, IT และ Cloud ในรูปแบบ Everything Connected เพื่อเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมไทยให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของการทำงานมากยิ่งขึ้นได้
ทั้งนี้ AIS 5G Private Network ในปัจจุบันให้บริการบนคลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ให้ประสิทธิภาพความเร็วในการเชื่อมต่อสูง ความหน่วงต่ำ และระยะให้บริการครอบคลุมได้ทั้งโรงงาน อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้งานความหน่วงต่ำมากกว่านี้ สามารถนำ 5G บนคลื่น 26 GHz มาให้บริการได้ แต่จะได้พื้นที่ที่จำกัดกว่าเดิม
เบื้องต้น ในการลงทุนนำ 5G Private Network ไปใช้งานภายในโรงงานสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ระดับ 1.5-2 ล้านบาท สำหรับรถควบคุมอัตโนมัติ ไปจนถึงหลายสิบล้านบาทในการติดตั้งหุ่นยนต์อัตโนมัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโรงงาน ทำให้ในจุดนี้แต่ละอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้ให้บริการเพื่อวางแผนในการลงทุนให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด
โดยโรงงานสามารถลงทุนได้ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ทาง BOI จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งถ้าโรงงานมีกำไรก็จะสามารถคุ้มทุนได้ตั้งแต่ปีแรก หรือขึ้นอยู่กับแผน รวมถึงระยะเวลาลงทุน