xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อลูกหยุดเรียนกลางคัน! /ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้สัมผัสกับพ่อแม่ที่มีปัญหาลูกออกกลางคันถึง 4 คน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันในรายละเอียด แต่มีความเหมือนกันคือลูกไม่อยากเรียนต่อ และทั้ง 4 คนล้วนอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับปริญญาตรี ​

ที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกตคือ มีคุณแม่หลายคนที่บอกว่าลูกบ่นไม่อยากเรียนแล้ว​

ไม่น่าใช่เรื่องธรรมดาแน่ !​

เมื่อปีที่แล้วสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึง รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2563 ระบุว่าระบบการศึกษาไทยยังพบว่ามีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาความยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรีก็ตาม โดยผลกระทบของปัญหาการต้องออกจากโรงเรียนกลางคันของเด็กและเยาวชนจะส่งต่อทักษะและรายได้ที่ต่ำตามมา เกิดเป็นวัฏจักรความยากจนในระยะยาว และจะเป็นอุปสรรคในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) รวมทั้งทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ​

นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนต้องเผชิญสถานการณ์การเรียนออนไลน์ และผู้ปกครองต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ก็เป็นเหตุของการออกกลางคันเช่นกัน​

​แต่ก็มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เผชิญปัญหาดังกล่าว แต่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา ค่านิยม เจตคติ ความสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะแสดงออกในช่วงวัยรุ่นของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นกระบวนการในการพัฒนาจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่​

เด็กบางคนเกิดอาการท้อแท้จนไม่อยากเรียนต่อไปแล้ว อาจเป็นเรื่องวิชาเรียน เริ่มรู้สึกว่ายาก ไม่ค่อยเข้าใจ และเริ่มไม่สนใจเท่าที่ควร รู้ตัวอีกทีก็ไม่อยากเข้าเรียนวิชานั้นและวิชาอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อความสามารถในการเรียนแย่ลงเรื่อย ๆ ก็ท้อแท้คิดว่าไม่เรียนดีกว่า ไม่อยากฝืนแล้ว ขณะที่บางคนก็เบื่อกับการเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาจนไม่อยากเรียนต่อแล้ว​ ​

​แล้วถ้าลูกไม่อยากเรียนต่อจริง ๆ ทำอย่างไร ?​

​แน่นอนว่าพ่อแม่ต้องพยายามหาสาเหตุก่อนว่าลูกไม่อยากเรียนต่อเพราะอะไร เพราะเรียนออนไลน์ เพราะไม่ชอบสาขาที่เรียน เพราะไม่สนใจ ฯลฯ ​

ก่อนอื่นพ่อแม่ผู้ปกครองอย่ามองว่าเป็นเรื่องผิด​หรือคิดว่าเวลาที่เสียไปนั้นเป็นการสูญเปล่าทางการศึกษา เสียทั้งเงินและเวลาไปแล้ว แต่ลูกกลับเลือกที่จะไม่เรียนต่อ กลัวลูกจะตามเพื่อนไม่ทัน กลัวลูกจะมีปัญหา ฯลฯ​

จากนั้นพ่อแม่ต้องมีช่วงเวลาพูดคุยกับลูกเพื่อหาสาเหตุแบบรับฟังลูกอย่างจริงจัง และพยายามหาทางออกร่วมกัน​

แล้วลองตั้งหลักใหม่ ชวนกันคิดว่า ถ้าลูกต้องหยุดเรียนกลางคันแล้วจะทำอย่างไร ?​

​- หยุดเพื่อตั้งหลัก​

​เด็กบางคนเรียนไปแล้วกลางทางรู้สึกไม่ชอบสาขาที่เรียน หรือยังอยากแสวงหาทางเลือกที่ตัวเองชอบ ก็ต้องลองปล่อยให้ลูกได้เผชิญชีวิต โดยการพูดคุย หรือหาทางช่วยเหลือส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสค้นหาสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างจริงจัง​

- ฝึกทักษะที่สนใจ​

เพราะชีวิตเราไม่ได้มีแค่เรื่องวิชาการเท่านั้น พ่อแม่เองก็เคยผ่านช่วงวัยรุ่นมาก่อน บางทีเราก็เกิดคำถามว่าจะเรียนวิชานี้หรือสิ่งนี้ไปทำไม ยิ่งโลกยุคเทคโนโลยีที่เด็กสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากมายมหาศาลมากกว่ารุ่นพ่อแม่ ฉะนั้น ลองเปลี่ยนมาส่งเสริมให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะบางด้านที่ลูกสนใจ​ ​

- ตั้งต้นใหม่​

คำว่าเรียนรู้ไม่มีคำว่าสายเกินไปในยุคนี้ หยุดวันนี้ก็สามารถเริ่มใหม่ในวันหน้า ขอเพียงให้รู้ว่าสิ่งที่เราจะเรียนนั้น เรียนไปทำไม เรียนเพื่ออะไร และมีเป้าหมายอะไร เพราะต้องยอมรับว่า การศึกษาในระบบก็อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในแบบที่ลูกต้องการ การหยุดตอนนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการตั้งต้นใหม่ได้ทุกเมื่อ ขอเพียงให้ค้นเจอเส้นทางชีวิตที่ต้องการ​

-หาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ​

การใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ ทุกวันก็สามารถสร้างความเบื่อหน่ายได้ ลองมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ หรือกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ อาจให้ลูกลองไปใช้ชีวิตกับคนที่ลูกชื่นชอบ หรือคนที่ประสบความสำเร็จ หรือได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ดูบ้าง​

- โฟกัสที่เป้าหมาย​

เป้าหมายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนเราอยากทำบางอย่างที่ไม่ชอบ และยอมลำบาก อาจให้เขาลองวางเป้าหมายชีวิตด้วยตัวเอง และช่วยกระตุ้นให้เขาลองหาหนทางไปสู่เป่หมายให้ได้​​

​ประเด็นสำคัญอีกประการก็คือ ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าการศึกษาในบ้านเรามีปัญหาอยู่ไม่น้อย แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนจะไม่เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว​

แม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์เองที่ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการศึกษาที่ดี แต่ประเทศเขาไม่เคยหยุดนิ่งเลย​

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สเตรตส์ ไทมส์ รายงานอ้างคำกล่าวของนายออง ยี คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ที่ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ จะปรับหลักสูตรการเรียนระดับมัธยมศึกษาใหม่ โดยเลิกใช้ระบบแบ่งสายนักเรียนปกติ-นักเรียนพิเศษภายในปี 2567 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสามารถ​

สำหรับระบบการศึกษาของสิงคโปร์ทุกวันนี้ เมื่อเริ่มเรียนระดับมัธยมศึกษา นักเรียนจะถูกแบ่งเป็นสายปกติ (เทคนิค) สายปกติ (วิชาการ) และสายพิเศษ ซึ่งสิงคโปร์จะยกเลิกระบบนี้ และจะค่อย ๆ บังคับใช้กับโรงเรียนมัธยมจนครบทุกแห่งภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเรียนวิชาต่าง ๆ ตามความสามารถและความถนัดของตัวเองได้ ​

ที่ผ่านมาระบบแบ่งสายแบบเก่าทำให้เกิดการขีดเส้นจัดกลุ่มว่าเด็กคนไหน 'เก่ง' หรือ 'ไม่เก่ง' เกิดชนชั้น สร้างปมความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังทำลายศักยภาพของเยาวชนและลดความหลากหลายของเด็ก โดยที่เด็กแต่ละคนอาจมีความถนัดต่างกันหรืออาจยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบ​อีกทั้งการแบ่งสายยังเป็นการบังคับให้นักเรียนต้องเรียนทุกวิชาด้วยอัตราการเรียนรู้เท่ากัน ขณะที่นักเรียนจำนวนมากมีความถนัดในแต่ละวิชาแตกต่างกัน​

​ระบบนี้เป็นการจำกัดอนาคตของคนรุ่นต่อไปด้วยกระบวนการชี้วัดที่ไม่ทันสมัยสำหรับโลกปัจจุบัน ส่งผลให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีโอกาสในการเปลี่ยนการศึกษาของตัวเอง และสุดท้ายเด็กก็อาจเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากเรียนรู้​

บางประเทศเมื่อเด็ก ๆ เรียนจบไฮสคูล ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะไม่ได้เร่งรีบสอบเข้าระดับอุดมศึกษา เขาจะมีช่วงที่เรียกว่า “Gap Year” ซึ่งก็คือช่วงเวลาแห่งการพักยาว จะก่อนหรือหลังเรียนมหาวิทยาลัยก็แล้วแต่ เพื่อให้ได้คิดทบทวนตัวเอง ค้นหาตัวเอง และใช้ชีวิตที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริง​

จะเห็นได้ว่าการหยุดเรียนกลางคันไม่ใช่เรื่องไม่ดีไม่งามเสมอไป และไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายถึงขนาดไร้ทางแก้ไข​

อยู่ที่พ่อแม่ต้องเปิดใจคุยกับลูก​


กำลังโหลดความคิดเห็น