ดีป้า เปิดผลสำรวจอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ปี 2563 ขยายตัว 3.99% โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมผู้ใช้บริการบิ๊กดาต้ามากขึ้น ขณะที่ผู้พัฒนาและผลิตเทคโนโลยีต้องปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มการให้บริการบิ๊กดาต้าบนคลาวน์เพิ่มขึ้น คาดปี 2564 และ 2565 ขยายตัว 0.19% และ 0.08% โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13,728 ล้านบาท และ 13,738 ล้านบาท ตามลำดับ เหตุ ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล’ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า ดีป้า ร่วมกับบริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด ทำบทสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ประจำปี 2563 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ปี 2563 ขยายตัว 3.99% จากปีก่อน มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13,703 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าจากตลาดฮาร์ดแวร์ 1,610 ล้านบาท ตลาดซอฟต์แวร์ 4,176 ล้านบาท งานบริการด้านไอทีและธุรกิจ 7,917 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องไปพร้อมกับการให้บริการบนคลาวด์
ทั้งนี้ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้บริการบิ๊กดาต้าในการใช้งานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในปริมาณมาก และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและปรับใช้ได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้พัฒนาและผลิตเทคโนโลยีต้องปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มการให้บริการบิ๊กดาต้าบนคลาวน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดซอฟต์แวร์ และงานบริการยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะยังมีการนำข้อมูลเข้ามาผ่านการประมวลผล เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
สำหรับอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า คาดว่าปี 2564 มีแนวโน้มขยาย 0.19% มูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13,728 ล้านบาท และปี 2565 ขยายตัว 0.08% มูลค่า 13,738 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการจะเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและเพิ่มการรักษาความปลอดภัยให้ดาต้า หลัง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล’ (Personal Data Protection Act: PDPA) จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 จากนั้นแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มทรงตัวในปี 2566 เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมามีการจัดเตรียมโครงการบิ๊กดาต้าในหลายภาคส่วน ซึ่งคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตจะหดตัวเฉลี่ย 2% มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13,474 ล้านบาท
นายณัฐพล กล่าวว่า ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าและบริการมากขึ้น แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่บิ๊กดาต้ายังเปิดโอกาสให้หลายอุตสาหกรรมเติบโต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต ทั้งหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรมการขนส่ง และภาคการศึกษา รวมถึงการสนับสนุนโครงการต่างๆ จากภาครัฐในการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้ พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มหันมาใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการทำงานจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น AI, IoT, Machine Learning และ 5G เพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภค พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่