เมื่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจต้องเกิดการปรับตัว และหันเข้าไปพึ่งพาระบบคลาวด์มาช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยจากการสำรวจ และประเมินคาดว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดคลาวด์ในไทยจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท
โดย 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจคลาวด์ในไทยเติบโตคือการที่ภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน ต้องการความคล่องตัวในการทำงานแบบยืดหยุ่น ส่วนอีกปัจจัยคือการที่ธุรกิจต้องเร่งทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชัน เพื่อให้เข้าสู่การให้บริการในยุคดิจิทัล ทำให้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ราว 30-40% ต่อเนื่อง
ประกอบกับปัจจุบันการใช้งานมัลติคลาวด์ เริ่มกลายเป็นทิศทางหลักที่หลายองค์กรธุรกิจเลือกลงทุน ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการคลาวด์ไทย ที่มีความเชี่ยวชาญสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในการเข้าไปช่วยวางระบบ ติดตั้งระบบ เพื่อให้รองรับการใช้งานที่หลากหลายไปในตัว
เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ให้บริการคลาวด์ต่างชาติที่เข้ามาทำตลาดส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ลูกค้าที่มีระบบอยู่แล้วเข้าไปเชื่อมต่อใช้งาน แต่ในการทำตลาด หรือการติดตั้งโซลูชันต่างๆ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ให้บริการในแต่ละท้องถิ่น จึงทำให้กลายเป็นว่าผู้ให้บริการคลาวด์ไทย ก็จะเป็นพันธมิตรในการให้บริการกับคลาวด์ต่างชาติไปในตัว
ที่ผ่านมาผู้ให้บริการคลาวด์ต่างชาติแต่ละรายจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่าง อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) จะเหมาะกับบรรดาสตาร์ทอัป นักพัฒนาที่นำคลาวด์ไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรม หรือบริการที่พร้อมขยายตัวในอนาคต ขณะที่ กูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) จะเหมาะกับงานวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI ร่วมกับการนำบิ๊กดาต้าไปใช้งาน ส่วนผู้ให้บริการคลาวด์จากจีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) หรือ เทนเซ็นต์ (Tencent) จะได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่าย และเทคโนโลยีเฉพาะทางอย่างการตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) ที่จะแม่นยำกับคนเอเชียมากกว่า
ในขณะที่ผู้ให้บริการคลาวด์ในไทย จะเน้นในแง่ของการเข้าไปให้คำปรึกษา ด้วยการชูจุดแข็งเรื่องความเชี่ยวชาญ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยวางแผน วางกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรธุรกิจในไทยสามารถทรานฟอร์มธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่วมกับการนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาให้ใช้งาน ดังนั้น จึงกลายเป็นว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการคลาวด์จากต่างประเทศ จึงเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ให้บริการคลาวด์ไทย เพื่อรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้
หนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์ไทยที่สามารถรักษาการเติบโต 100% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้วอย่าง ‘คลาวด์ เอชเอ็ม’ ซึ่งปัจจุบันก้าวขึ้นมาติดท็อป 3 ผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย พร้อมวางเป้าหมายเติบโตเท่าตัวต่อเนื่องในอนาคต เผยให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดคลาวด์ไทย ที่เปิดกว้างมากขึ้นในยุคดิจิทัล
ณพัชร อัมพุช กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์ เอชเอ็ม จำกัด ให้มุมมองเกี่ยวกับการเติบโตของธุรกิจคลาวด์ในไทยว่า มี 2 ส่วนหลักๆ ที่เติบโตคือในส่วนของซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ที่เดิมองค์กรอาจจะใช้งานอยู่แล้วภายในองค์กร เมื่อต้องการให้สามารถใช้งานได้ยืดหยุ่นขึ้นก็จะย้ายขึ้นไปใช้งานบนคลาวด์แทน ในจุดนี้ก็จะช่วยลดภาระการดูแลระบบภายในองค์กร สร้างความยืดหยุ่น และความคล่องตัวให้แก่ธุรกิจมากขึ้น
อีกส่วนที่เติบโตคือจากการแข่งขันในโลกดิจิทัล ที่ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องผลิต หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปแข่งขันเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในกลุ่มขององค์กรธุรกิจ และผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเตรียมการรองรับให้สามารถเชื่อมต่อไปยังแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น
‘จุดแข็งของคลาวด์ เอชเอ็ม คือเรื่องความเชี่ยวชาญในการให้บริการคลาวด์ ด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้รองรับการทำงาน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพราะในปัจจุบันหลายองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์ กรณีที่มีปัญหาหรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถเชื่อมต่อได้ ก็จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจหยุดชะงักได้’
การให้บริการคลาวด์ที่มีความเสถียร ยืดหยุ่น ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ จะช่วยทั้งประหยัดต้นทุน และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้แก่องค์กรธุรกิจที่เข้ามาใช้งาน และแน่นอนว่าด้วยกลยุทธ์ของคลาวด์ เอชเอ็ม ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเข้าไปแข่งขัน แต่เน้นที่การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในการใช้งาน จะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในบริการที่จะใช้งานได้ต่อเนื่อง ภายใต้การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยถึง 3 แห่งทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี
หนึ่งในเหตุผลที่คลาวด์ เอชเอ็ม ตัดสินใจไม่เข้าไปร่วมแข่งขันในแง่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีผู้ให้บริการที่มีคุณภาพอยู่แล้วจึงไม่ใช่ธุรกิจที่สนใจในเวลานี้ ประกอบกับการที่องค์กรไทยกำลังอยู่ในช่วงที่เริ่มให้ความสำคัญกับคลาวด์ และโมบาย ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความคล่องตัวจึงคิดว่าเป็นตลาดที่ยังสามารถรักษาการเติบโตเท่าตัวต่อเนื่องไปได้
ปัจจุบัน คลาวด์ เอชเอ็ม ให้บริการมากกว่า 1,000 องค์กร ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการทรานฟอร์มก่อนใครอย่างธุรกิจธนาคาร ไฟแนนซ์ ประกันภัย จนถึงโทรคมนาคม และรีเทล พร้อมทั้งเปิดรับลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีด้วย
‘ตอนนี้การแข่งขันทางธุรกิจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกออฟไลน์แล้ว แต่กำลังเข้าสู่เวอร์ชวล ดังนั้นทุกอุตสาหกรรมควรรีบนำเทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากในภาพรวมแล้วธุรกิจไทยยังถือว่าค่อนข้างล้าหลังในหลายๆ อุตสาหกรรม ที่ยังไม่มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการคลาวด์สามารถเติบโตได้จากทุกอุตสาหกรรม’
เพื่อรับมือกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญที่ทุกบริษัทควรให้ความสนใจคือการวางกลยุทธ์ทางเทคโนโลยี ด้วยการทำบิสสิเนสแพลนที่ครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจ นอกเหนือจากการวางแผนทางด้านการขาย การทำตลาด และการจัดการบุคลากร ที่ถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการทำธุรกิจอยู่แล้ว
‘ทุกธุรกิจควรเริ่มมองแล้วว่าเทคโนโลยีจะเข้ามากระทบกับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจอย่างไร และสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าภาระหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่กับแผนกไอทีซัปพอร์ตเดิม แต่ควรเป็นฝ่ายบริหารที่เข้าใจในเทคโนโลยี เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต’
ที่สำคัญคือประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางดิจิทัล ทำให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่มีความรู้ในการดูแลเทคโนโลยีให้แก่บริษัท จึงเป็นที่มาของการพัฒนาบริการใหม่ของคลาวด์ เอชเอ็ม อย่าง ‘CTOaaS’ (Cheift Technology Officer as a Service) เพื่อมาทำงานร่วมกับองค์กรอย่างใกล้ชิดในลักษณะของการเข้าไปร่วมวางกลยุทธ์ทางเทคโนโลยี เพื่อให้แข่งขันได้