เอสเอพี (SAP) ยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันระดับองค์กรเผยโฟกัสธุรกิจไทยปี 65 ยังอยู่ที่กลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือเอสเอ็มอี มั่นใจอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค Fast-moving consumer goods (FMCG) เป็นหนึ่งในตลาดที่จะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันดุเดือดต่อเนื่องไม่ว่าจะมีโควิด-19 อีกกี่ระลอก ชี้หลายแบรนด์ลงมาขายออนไลน์เองเพื่อตอบสนองคนไทยที่เปลี่ยนพฤติกรรมชอปผ่านหน้าจอจนอุตสาหกรรมโต 2.9% ในช่วงล็อกดาวน์ ชูตัวอย่าง “ไอ.พี. วัน” ต้นสังกัดแบรนด์ไฮยีนและวิกซอลที่ประกาศใช้งานโซลูชันเอสเอพีใหม่ทั่วทั้งองค์กรเพื่อขยายธุรกิจ
นายนพดล เจริญทอง ผู้อำนวยการธุรกิจทั่วไปสำหรับประเทศไทยและตลาดเกิดใหม่ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า อุตสาหกรรม FMCG ในประเทศไทยช่วงไตรมาสแรกปี 64 นั้นเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 63 ราว 2.3% ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36.6 ล้านคน คาดว่าจะขยายตัวเป็น 43 ล้านคนในปี 2568 การขยายตัวของ 2 พื้นที่นี้ทำให้ธุรกิจ FMCG ต้องปรับตัวด้วยการเริ่มใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อให้บริษัทมีข้อมูลอินไซต์ที่ช่วยให้บริษัทสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นในทุกสถานการณ์
“แต่เดิมองค์กรอาจมีระบบไอทีอยู่แล้ว จนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งต้องพบเจอกับการดิสรัปทุกรูปแบบและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจต้องมีข้อมูลเพื่อให้ตัดสินใจได้ทันท่วงที ไม่ว่าโควิด-19 จะมาอีกกี่เวฟ ธุรกิจก็ยังต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถทำธุรกิจต่อได้และตอบโจทย์ภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง”
นพดล ชี้ว่า ภาวะการระบาดใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจต้องปิดทำการหลายสาขา มีผลให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ให้ได้ โดยมองว่าหากใช้กระบวนการเดิมอาจทำให้ธุรกิจพบเจอปัญหา ธุรกิจจึงควรลงทุนทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันร่วมกับพันธมิตรซึ่งเข้าใจทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ
SAP การันตีว่าตัวเองสามารถตอบโจทย์ให้ทุกธุรกิจได้ ตัวอย่างธุรกิจที่ SAP ชูธงคือ ไอ.พี. วัน ซึ่ง SAP ระบุว่า่ เป็นหนึ่งในลูกค้าหลายพันรายในประเทศไทยที่หันมาใช้งาน เอสเอพี และได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของบริษัททั้งในด้านการสร้างข้อมูลเชิงลึก การขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ โดยโซลูชันสามารถช่วยต่อยอดการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคกับแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อมัดใจผู้บริโภค
บริษัท ไอ.พี. วัน จำกัด นั้นเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2515 นอกจากไฮยีนและวิกซอล แบรนด์ในเครือ ไอ.พี. วัน ยังมีวิซ, แดนซ์, โฟกัส และไอวี่ ที่ผ่านมาแม้องค์กรจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่บ้าง แต่ยังประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตและขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ
น.ส.สิรินารถ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงาน Corporate Services บริษัท ไอ.พี.วัน จำกัด กล่าวว่า ในขณะที่ธุรกิจกำลังขยายตัว ไอ.พี. วัน ต้องการพลิกโฉมองค์กรให้เป็นองค์กรดิจิทัลและยกเครื่องอัปเกรดระบบการจัดการธุรกิจเพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันและจัดการธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น โดยต้องการใช้ข้อมูลเป็นตัวแปรหลักขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในระดับภูมิภาค
“ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีการแข่งขันสูงมาก การดำเนินการทางธุรกิจที่รวดเร็วและคล่องตัวเท่าทันตลาดจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าธุรกิจนั้นจะรอดหรือร่วง เราจึงมองหาเทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วในองค์กรมาสร้างเป็นข้อมูลเชิงลึก หรืออินไซต์ เพื่อนำมาสร้างนวัตกรรมและช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งท้ายสุดแล้วเรามองว่าความสามารถจากเทคโนโลยีจะช่วยผลักดันให้เราขยายธุรกิจได้ชัดเจน”
นอกจาก FMCG ผู้บริหาร SAP ย้ำว่าขณะนี้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มจากทั้งหมด 25 อุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้า SAP โดยเป้าหมายในปีหน้าของบริษัทคือ การต่อยอดฐานลูกค้ากลุ่ม SME ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งรายได้กว่า 80% ของบริษัทในระดับโลก เบื้องต้นวางแผนจะสร้างพาร์ตเนอร์แพกเกจทั้งในส่วนระบบวางแผนทรัพยากรในองค์กร ERP ระบบจัดการบุคลากร HR ระบบจัดการการจัดซื้อและระบบสร้างประสบการณ์ลูกค้า บนจุดขายว่า SME จะมีโอกาสได้ใช้ระบบเหมือนกับธุรกิจใหญ่ระดับโลก
“บางองค์กรอาจจะกำลังเติบโตจากระบบบริหารในครอบครัว แต่เมื่อต้องการขยายธุรกิจจะต้องควบคุมทรัพยากรต่างๆ ในระบบให้ดี โดยเฉพาะการควบคุมบุคลากร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อไป” นพดล กล่าว