การนำสายสื่อสารซึ่งพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน เป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญของ NT ที่มุ่งสร้างศักยภาพในการยกระดับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ โดยปัจจุบัน NT มีท่อร้อยสายใต้ดินรวมทั้งสิ้นกว่า 4,450 กิโลเมตร การเปลี่ยนเทคโนโลยีจากเคเบิลทองแดง เป็น OPTIC FIBER ทำให้พื้นที่ภายในท่อร้อยสายใต้ดินมีเหลือเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการของผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรวมถึงธุรกิจอื่นๆ ได้
ในปัจจุบัน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นท่อ เสา สายโทรคมนาคม ได้ดำเนินการแผนงานการนำสายสื่อสารของ NT และให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรวมถึงธุรกิจอื่นๆ โดยได้ร่วมดำเนินการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารกับหน่วยงานที่ต้องการปรับภูมิทัศน์เมือง เช่น กสทช. กรุงเทพมหานคร จังหวัด เทศบาล การท่องเที่ยวฯ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค เช่น
- โครงการมหานครแห่งอาเซียน ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร เป็นโครงการสร้างท่อร้อยสายรองรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปพร้อมกับการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ตามเส้นทางการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสีต่างๆ
- โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า 4 เมืองใหญ่ ระยะทาง 68 กิโลเมตร เป็นโครงการสร้างท่อร้อยสายรองรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปพร้อมกับการนำสายไฟฟ้าลงดิน ในเมืองใหญ่ เช่น
พัทยา นำสายลงดินแล้ว เช่น ถนนพัทยา เหนือ พัทยากลาง และมีบางเส้นทางอยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น ถนนสุขุมวิท (จากพัทยาเหนือ-พัทยากลาง) ถนนพัทยาสาย 3
นครราชสีมา ก่อสร้างท่อร้อยสายแล้วเสร็จทุกเส้นทางและได้นำสายลงดินแล้ว จำนวน 2 เส้นทาง (ถนนราชดำเนินกับถนนชุมพล) ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนิน
หาดใหญ่ ก่อสร้างท่อร้อยสายแล้วเสร็จทั้งหมดและนำสายลงดินแล้วจำนวน 2 เส้นทาง (ถนนธรรมนูญวิถี และถนนศุภสารรังสรรค์) และอยู่ระหว่างนำสายลงดินจำนวน 2 เส้นทาง (ถนนราษฎร์ยินดี และถนนศรีภูวนาถ)
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายโครงการที่ NT อยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย
- โครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง 156 กิโลเมตร เป็นโครงการสร้างท่อร้อยสายรองรับการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปพร้อมกับการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น กทม.และปริมณฑล
- โครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว NT ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายและได้มีการนำสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้วหลายจังหวัด เช่น อยุธยา สุโขทัย ลำพูน สมุย ลพบุรี ลำปาง เชียงใหม่ ภูเก็ต และอยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น แม่สอด เชียงราย นครศรีธรรมราช
- โครงการตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ กับ NT ระยะทางประมาณ 35.5 กิโลเมตร ปัจจุบัน ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายภายในสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 เส้นทาง (บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด และสนามบินอู่ตะเภาส่วนขยาย)
ในอนาคต NT ยังคงต้องดำเนินภารกิจสร้างท่อร้อยสายเพื่อรองรับสายสื่อสารของผู้ประกอบการทุกรายในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐต่อไป แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและเทคนิคการก่อสร้างให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการวางโครงข่ายปลายทาง (Last mile Sharing) ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด