“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ร่วมกับ ผบก.สอท.1 กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมกักตัว (AQ) 19 แห่ง ประกาศล่าตัวแฮกเกอร์สวมรอยหลอกลูกค้าโรงแรมโอนเงิน เตรียมหารือ สพธอ. และดีป้า เสริมแกร่งผู้ประกอบการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันแฮกเกอร์เจาะระบบ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้กระทรวงดีอีเอส และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปกป้องคุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยทางไซเบอร์
วันนี้ (27 ต.ค.) น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.พปชร. นำตัวแทนกลุ่มชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยมิติใหม่ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ รมว.ดีอีเอส และ พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อประสานงานปราบปรามและจับกุมขบวนการหลอกลวงผ่านทางอินเทอร์เน็ตในระบบการกักกันตนทางเลือก (Alternative Quarantine : AQ)
โดยจากคำร้องเรียนของตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม พบว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นโรงแรมต่างๆ ในระบบการกักกันตนทางเลือก (AQ) เพื่อหลอกลวงให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่มีความประสงค์กักตนชำระค่าห้องพัก และบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ของตน โดยแอบอ้างว่าเป็นช่องทางที่ดำเนินการโดยโรงแรม และมีความต้องการเข้าถึงฐานข้อมูลของโรงแรม และให้ผู้ที่มีความประสงค์กักตัวชำระค่าใช้จ่าย ล่าสุด มีโรงแรมที่ได้รับความเสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 19 แห่ง มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า แฮกเกอร์มีการใช้โปรแกรมสปายแวร์ (Spyware) เจาะระบบโรงแรม ทำอีเมลปลอมซ้อนอีเมลของโรงแรม เมื่อมีการจองโรงแรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แฮกเกอร์จะปลอมเป็นพนักงาน หลอกให้นักท่องเที่ยวที่จองห้องพักเข้ามาโอนเงินเข้าบัญชีของแฮกเกอร์ สร้างความเสียหายให้ทั้งนักท่องเที่ยวที่สูญเงิน และโรงแรมที่สูญเสียโอกาสและรายได้ ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการโรงแรมที่ประสบความเดือดร้อนจากจากสถานการณ์โควิด-19
“กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวไทย และห่วงใยนักท่องเที่ยว ที่เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินแล้วไม่มีคนไปรับ เพราะผู้ที่ติดต่อด้วยคือแฮกเกอร์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นอกจากเป็นการฉ้อโกงทั้งกับประชาชนผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อ และโรงแรมที่ถูกแอบอ้างชื่อ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่การท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย นี้ด้วย ดังนั้น เราและตำรวจไซเบอร์ จะร่วมดำเนินการหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” นายชัยวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการโรงแรมต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย ติดตั้งโปรแกรมป้องกันการถูกแฮกระบบ (Anti-Spyware) และอีเมลของโรงแรม ต้องมีระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงและเข้ามาใช้งาน
ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอีเอสจะเร่งรัดออกมาตรการและมีการให้ความรู้ผู้ประกอบการเพื่อรับมือเทรนด์ภัยคุกคามยุคใหม่ผ่านออนไลน์/ไซเบอร์ โดยหารือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้เข้ามาช่วยให้ความรู้และติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือในโลกระบบคอมพิวเตอร์ที่มีภัยคุกคามจากแฮกเกอร์
ขณะที่ในฝั่งหน่วยงานหลักของกระทรวงฯ ที่ดูแลด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตี คือ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปีนี้ จะพยายามขับเคลื่อนงานนี้ให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องกำลังคน เจ้าหน้าที่ งบประมาณ เพราะถ้ามีทรัพยากรเหล่านี้พร้อมจะสามารถออกไปช่วยให้ความรู้ ช่วยผู้ประกอบการสามารถเสริมสร้างระบบคอมพิวเตอร์ให้เข้มแข็ง
“การที่ผู้ประกอบการเข้ามาร้องเรียนในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับภาคธุรกิจที่มีเว็บไซต์ มีอีเมลในการติดต่อกับลูกค้าให้ทราบว่า มีการเจาะเข้ามาในระบบได้ และมีการปลอมตัวเข้ามาเป็นพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของธุรกิจเรา แล้วหลอกให้คนโอนเงินเข้ามา สร้างความเสียหายกับธุรกิจอย่างมาก ลูกค้าก็เสียหาย ธุรกิจก็เสียหาย” นายชัยวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเตรียมศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการโรงแรม ในการติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ป้องกันสปายแวร์ โดยอาจหารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษกิจดิจิทัล (ดีป้า) หน่วยงานในสังกัด หรือนำเสนอของบสนับสนุนจากกองทุนดีอี โดยมองว่าในเบื้องต้น รัฐควรส่งเสริมช่วยผู้ประกอบการให้หาซอฟต์แวร์ดีๆ มาใช้ป้องกันการถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องยอมรับว่าการจะวางระบบให้ดี ป้องกันแฮกเกอร์ได้ดีมีค่าใช้จ่ายที่สูง และเป็นภาระให้ผู้ประกอบการ
พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า รมว.ดีอีเอส ได้ประสานสั่งการ สอท. ให้ช่วยดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะกระทบการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 พ.ย.นี้
ล่าสุด ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 2 ราย เป็นเจ้าของบัญชีที่รับโอนเงิน โดยให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี พบว่าแฮกเกอร์เป็นชาวต่างชาติ ใช้ชื่อคนไทยเปิดบัญชีหลอกลวงว่าเป็นบัญขีของโรงแรมต่างๆ โดยทางตำรวจกำลังขยายผลถึงผู้อยู่เบื้องหลัง กรณีลักษณะนี้ผู้กดเงินออกจากบัญชีส่วนใหญ่จะอยู่ตามแนวชายแดน หรือนอกประเทศ
“เราจะเร่งรัดติดตามคนร้ายที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี และพยายามติดตามเงินกลับมาให้ได้ เพราะความเสียหายนี้กระทบกับกิจการโรงแรม โดยโรงแรมอื่นๆ ที่มีปัญหานี้สามารถติดต่อกลับมาที่ สอท. และช่องทางอีเมล/โซเชียลของ สอท. หรือโทร.ร้องเรียนมาตามเลขหมาย ดังนี้ โทร.1212 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ของกระทรวงดิจิทัลฯ) โทร.1599 (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และโทร.1441 (สายด่วนตำรวจไซเบอร์)” พล.ต.ต.รณชัย กล่าว