พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีในปัจจุบันที่กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยม ว่า ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากยังคงมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสในการกระทำความผิด ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น และมีหลายคนสนใจในการหารายได้เสริม โดยการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและน่าส่งเสริม แต่ที่ผ่านมา ยังมีเหล่ามิจฉาชีพที่อาศัยช่องว่างนี้ในการกระทำความผิด โดยการหลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ในปัจจุบันกระแสของคริปโทเคอร์เรนซีกำลังได้รับความนิยม ก็จะมีการล่อลวงให้ผู้เสียหายลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกลอุบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) มีสถิติการรับแจ้งการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน รวมกว่า 60 คดี จึงขอให้ผู้ที่สนใจการลงทุนลักษณะนี้ ศึกษาข้อมูลให้ดีและใช้ความระมัดระวังในการลงทุนให้มากขึ้น
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตระหนักถึงปัญหาและภัยการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงผ่านรูปแบบการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนสูง เกิดเสียหายได้อย่างรวดเร็ว เป็นวงกว้าง จึงกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางป้องกัน หากมีการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลโดยได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างการรับรู้ถึงภัยทางออนไลน์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงผ่านรูปแบบการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ทำการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามอาชญากรรม กลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขยายผลไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรมการหลอกลวงลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเป็นการตอกย้ำพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนถึงแนวทางการลงทุนใน คริปโทเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน และพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการลงทุนลักษณะนี้ให้มาก อย่าหลงเชื่อเพียงแค่ เข้าถึงได้ง่าย ใช้เวลาระยะสั้น แต่ได้รับผลตอบแทนที่มากและรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซียังไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไรและมีความผันผวนสูง ขอฝากไปยังผู้ปกครองคอยสอดส่องดูแลให้คำแนะนำด้านการลงทุนกับบุตรหลายอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รวมถึงควรเลือกผู้ให้บริการ บริษัท หรือตัวแทนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และขอให้พี่น้องประชาชนคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้ทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ นักลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th หรือทางแอปพลิเคชัน "SEC Check First" หากมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง