xs
xsm
sm
md
lg

ETDA เผยยอดร้องเรียนโกงซื้อขายออนไลน์ปี 64 ทะลุ 2,221 ครั้ง/เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) พบ 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดแห่งปี 64 เตรียมปูทางดูแลปัญหาผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 เผยผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน

ETDA ระบุในแถลงการณ์ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยหวั่นใจกับการโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งบางกรณีพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังคร่าชีวิตคนได้หากผู้ประสบปัญหาไม่เห็นทางออก ดังนั้น ในยุคดิจิทัลที่คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น 150% ในรอบ 10 ปี การรู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก จึงเป็นวิธีการที่ดี ทำได้ทันที เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย

“จากการรับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน” ETDA ระบุ


ETDA ระบุว่า สถิตดังกล่าวเป็นสถิติเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาจับจ่ายผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านค้าต่างๆ ก็หันมาเปิดขายบนออนไลน์เช่นกัน

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยุคตลาดดิจิทัล ETDA จึงเตือนภัย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน โดยกลโกง 1 คือการ “หลอกโอนเงิน” จากนั้นจึงหนีไปและไม่มีสินค้าส่งจริง

กลโกงนี้เห็นชัดจากกระแสข่าวแก๊งแม่ค้าวัยทีน #phonebymint หลอกขายมือถือทางออนไลน์ โพสต์ภาพมือถือสวยๆ ขายบนอินสตาแกรม โดยตั้งราคาถูก พร้อมสร้างข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้งานเสมือนจริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เด็กนักเรียนวัย 14 ปี หลงกลโอนเงินสั่งซื้อสินค้า เพราะหวังใช้มือถือเรียนออนไลน์ สุดท้ายเด็กพบว่าโดนหลอกเพราะแม่ค้าไม่ส่งสินค้าตามที่แจ้ง พร้อมกับติดต่อไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเครียดเส้นเลือดสมองแตกเสียชีวิต ก่อนจะพบว่ามีผู้เสียหายจากแม่ค้าดังกล่าวปรากฏเพิ่มขึ้นนับร้อยราย


ETDA ชี้ว่าจากสถิติร้องเรียนมายังศูนย์ฯ 1212 เอง ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้ามาเป็นอันดับ 1 ถึง 45% ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อแนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada)

กลโกง 2 คือ “สินค้าไม่ตรงปก” เพราะสินค้าที่ส่งมาอาจไม่ตรงกับภาพตัวอย่าง ผิดสี ผิดขนาด ไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน รวมถึงติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ศูนย์ฯ 1212 พบการร้องเรียนถึง 29% ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้

กลโกง 3 คือการจ่ายเงินซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้รับของปลอม ซึ่ง ETDA แนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) ขณะที่กลโกง 4 คือกลโกงนักรับหิ้วของ หรือการยอมเสียเงินจ้างเพิ่มเล็กน้อยให้ซื้อสินค้าแทน ETDA ย้ำว่าควรมีการตรวจสอบประวัติผู้รับหิ้วให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมารับหิ้วให้ หรือสั่งจากร้านโดยตรง


กลโกง 5 คือการล่อลวงให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งเหล่ามิจฉาชีพทำงานเป็นทีมมาลวงเหยื่อถึงหน้าบ้าน ล่าสุดทางไปรษณีย์ไทยออกจดหมายแจ้งเตือน ระวังมิจฉาชีพตีเนียนเป็นผู้คนส่งของ หลอกให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ จุดนี้ ETDA ย้ำว่าควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่รับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งซื้อ

กลโกง 6 คือการได้รับของชำรุด เสียหาย ซึ่งสาเหตุอาจมาจากต้นทางคือร้านค้า หรือระหว่างทางจากระบบการขนส่งก็ได้ ดังนั้น แนะนำให้ตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะให้ร้านค้าช่วยถ่ายรูปส่งมาให้ดู ตรวจประวัติการเดินทางของสินค้า เพื่อเสริมความมั่นใจก่อนซื้อ

สำหรับกลโกง 7 คือการหลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ เนื่องจากตัวแทนอาจโกงแล้วใส่เลขที่บัญชีตัวเองแทนลูกค้า ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรี่ให้ถี่ถ้วน นอกจากนี้ กลโกง 8 คือการหลอกเช่าพระบูชา กลโกงนี้มีทั้งการโอนเงินแล้วร้านค้าหนีหาย และมิจฉาชีพใช้รูปโปรไฟล์ปลอมมาหลอกให้ซื้อ เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ตรวจสอบชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีธนาคารให้ดี เพราะแม้มิจฉาชีพจะเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บ่อยครั้ง แต่มักใช้เลขที่บัญชีธนาคารเดิม โดยอาจขอวิดีโอคอลล์กับคนขายเพื่อดูพระแบบสด ซึ่งบางรายพบว่าไม่มีพระอย่างที่โพสต์


กลโกงที่ 9 คือการต้มตุ๋นขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ เพราะบางร้านค้ากำหนดว่าต้องผ่อนให้ครบงวดแล้วร้านค้าจะดำเนินการจัดส่งสินค้ามาให้ผู้ซื้อ จึงอาจโดนเชิดเงิน ชวดได้รับสินค้า หรือร้านนำสินค้าที่เราผ่อนไปขายต่อ ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ จึงควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน หรือเลือกร้านที่เป็นทางการ (Official) และดูรีวิวผู้ซื้อต่างๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขายอย่างรอบคอบ

กลโกง 10 คือผู้ขายต้นไม้ไม่ตรงรูป ควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ จะเป็นการช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง รวมถึงสามารถเสิร์ชค้นหาข้อมูลร้านหรือโพสต์ถามเพจกลุ่มซื้อขายต้นไม้เพื่อย้ำเครดิตของร้านว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ในส่วนการพิจารณาขนาดความสูงต้นไม้นั้น อาจให้ทางร้านช่วยถ่ายรูปต้นไม้โดยวางไว้ข้างๆ ขวดน้ำ หรือขอวิดีโอคอลล์เพื่อตรวจสอบต้นไม้และให้ได้รับสินค้าตรงปก และก่อนโอนชำระเงินแนะให้เจ้าของร้านถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ โดยถือบัตรประชาชนหรือกระดาษที่เขียนเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ดูอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกง

อย่างไรก็ตาม หากตกเป็นเหยื่อไปแล้ว ETDA ย้ำว่าสามารถร้องเรียนและปรึกษาปัญหาหลากหลาย ทั้งปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ภัยคุกคามไซเบอร์ (โดนแฮก โดนเจาะระบบ) และข้อสงสัยด้านกฎมหมายไอซีทีได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center) หรือ “1212 OCC” โดยเอ็ตด้า ที่มีบริการรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำแนะนำและประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น