xs
xsm
sm
md
lg

WD ไทยขึ้นทำเนียบโรงงานอัจฉริยะของ World Economic Forum เล็งเป็น “4.0” มากขึ้นใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้จะเป็นโรงงานอัจฉริยะ แต่ WD ยืนยันว่าตัวโรงงานยังว่าจ้างแรงงานเช่นเดิม โดยบริษัทสามารถขยายสายการผลิตได้ ทำให้ลดการจ้างลงได้หลายพันราย
เวสเทิร์น ดิจิตอล (WD) ดีใจได้รับคัดเลือกจากเวทีประชุมเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (World Economic Forum) เป็นหนึ่งในเครือข่ายไลท์เฮาส์ (Global Lighthouse Network) ผู้นำโลกด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตจนเพิ่มผลผลิตของโรงงานเกิน 123% ลดค่าใช้จ่าย 30% และลดอัตราคืนสินค้าลงได้ 43% เผยเฟสต่อไปเล็งพาทั้ง 2 โรงงานในไทยเป็น “4.0” ให้เต็มตัวยิ่งขึ้นใน 5 ปีต่อจากนี้

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เฟสต่อไปของโปรเจกต์โรงงานอัจฉริยะ หรือสมาร์ทแฟคเทอรีของ WD คือการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบริษัทอื่นที่ได้รับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายไลท์เฮาส์ มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาโรงงานของบริษัทในอนาคต เพื่อให้โรงงานของ WD สามารถยกระดับความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ในด้านอื่นได้เพิ่มขึ้นอีก โดยย้ำว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้กับโรงงานนั้นไม่ได้สร้างผลกระทบกับแรงงานดั้งเดิม แต่สามารถลดการจ้างลง และมีโอกาสพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่เดิมได้มากขึ้น

“อีก 80 กว่าโรงงานที่ได้รับเลือกยังมีส่วนที่เราไม่ได้รับรางวัลด้านนั้น เราจะเรียนรู้เพื่อพัฒนา และยกระดับความเป็น 4.0 ในด้านอื่นเพิ่มขึ้นอีก” ดร.สัมพันธ์ระบุ “ตัวโรงงานยังว่าจ้างแรงงานเช่นเดิม แต่ขยายสายการผลิตได้ จึงลดการจ้างลงได้หลายพันคนเมื่อเทียบกับกำลังคนที่เคยใช้ในระดับการผลิตเท่ากัน”

สัมพันธ์ ศิลปนาฏ
WD เผยว่า โรงงานเวสเทิร์น ดิจิตอล ปราจีนบุรี ถูกยกเป็นโรงงานอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) มาใช้ ทำให้โรงงานเวสเทิร์น ดิจิตอล ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตแห่งแรกในประเทศจากโรงงานทั้ง 90 แห่งทั่วโลกที่ได้รับเลือกให้อยู่ในเครือข่ายนี้ ซึ่งจะมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือข่ายเพื่อเร่งการนำเอาเทคโนโลยีและกลยุทธ์มาใช้ในวงกว้าง ทำให้เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อบุคลากรไทยที่อยู่ในโรงงานนี้เกิน 80%

ในโรงงานมีการใช้เทคโนโลยีทั้งในส่วนของการบริหารและการจัดการสายพานการผลิต ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ขั้นสูง และระบบอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) มีการนำเอาการเชื่อมต่อและเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูงมาใช้ประโยชน์ เพื่อเปลี่ยนให้โรงงานที่กำลังการผลิตมีความอิ่มตัวให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการแบบดิจิทัลที่สามารถมองเห็นได้แบบเรียลไทม์ตั้งแต่ซัปพลายเออร์ การผลิต โลจิสติกส์ และลูกค้า รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการคาดการณ์ตามข้อมูล ซึ่งผลที่ได้คือการเพิ่มผลผลิตของโรงงานเกิน 123% สามารถเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและการผลิตลงได้ 30% และลดอัตราการคืนสินค้าลงได้ 43%

ข่าวดีของ WD ถือว่าสวนทางกับสถานการณ์โรงงานอัจฉริยะของไทยในขณะนี้ เพราะข้อมูลชี้ว่า 70% ของสถานประกอบการไทยวันนี้ยังเป็นระดับอุตสาหกรรม 2.0 โดยมี 9% เป็นอุตสาหกรรม 1.0 ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตในระดับต่ำ คาดว่าอุตสาหกรรม 4.0 ในไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 2-5% เท่านั้น ทำให้รัฐบาลไทยกำลังให้การสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และนำนวัตกรรมไปใช้ในโรงงานมากขึ้น


ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีมาตรการหนุนผู้ประกอบการให้อัปเกรดสู่โรงงานอัจฉริยะด้วยการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร หุ่นยนต์ และแขนกล รวมถึงการยกเว้นภาษีให้ 3 ปีเต็มเพดาน 100% ของมูลค่าการลงทุน ซึ่งหากการอัปเกรดไม่ถึงระดับ 4.0 สามารถลดเพดานการยกเว้นภาษีลงได้เหลือ 50% ของเงินทุน

สำหรับการเสนอชื่อเข้าเครือข่ายไลท์เฮาส์ สัดส่วนโรงงานไทยที่เข้าสู่ระดับ 4.0 และผ่านการคัดเลือกนั้นมีไม่ถึง 5% จาก 2,000 โรง จุดนี้ WD เผยว่าใน 5% นี้ประกอบด้วยโรงงานด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าคอนซูเมอร์ ด้านพลังงาน และยา ซึ่งเทรนด์การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะที่มาแรงคือการเพิ่มความยั่งยืนให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในส่วนของ WD บริษัทมีแผนพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และมีการเพิ่มทักษะเพื่อให้รองรับรูปแบบการทำงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยปัจจุบัน WD มี 2 โรงงานที่บางปะอิน และปราจีนบุรี ทั้ง 2 โรงงานมีส่วนผสมทั้งระบบ 2.0, 3.0 และ 4.0 เป้าหมายในอนาคตคือการขยายส่วนงาน 4.00 ให้ใหญ่ขึ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีส่วนช่วย WD ให้สามารถรับมือกับผลกระทบช่วงโควิด-19 ไ้ด้ดี ทั้งการนำเอาเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (ML) มาช่วยบริหารจัดการการขนส่งทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน รวมถึงการลดต้นทุน และการนำส่งผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการ


กำลังโหลดความคิดเห็น