แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) เปิดเวทีถกไอเดียเฟ้นหากุญแจสู่การสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้สำเร็จในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จุดประกายหน่วยงานเอเชียควรยกระดับทรัพยากรบุคคล หรือ HR เพื่อแก้ภัยไซเบอร์ หลังผู้เชี่ยวชาญพบว่าปัญหาหลักของหลายประเทศอยู่ที่ความสามารถในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งมักถูกจำกัดด้วยความรู้ด้านทรัพยากรบุคคล รวมถึงการร่วมมือข้ามค่ายระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคที่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
นายคริส คอร์แนล (Chris Connell) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kaspersky กล่าวในงานประชุมออนไลน์ Asia Pacific Online Policy Forum ครั้งที่ 3 หัวข้อ "Greater Cyber-resilience through Cyber Capacity Building" ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยุคนี้ทำให้ชาวโลกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความปลอดภัย ผลคือทรัพยากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้ทุกบริษัทควรยกระดับทรัพยากรหลายด้าน โดยเฉพาะด้านบุคคล หรือ HR เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม
“การลงทุนกับผู้มีความสามารถทางไซเบอร์ และส่งเสริมการรับรู้ด้านความปลอดภัย ร่วมกับการเพิ่มความรู้ด้านดิจิทัลให้ผู้ใช้ ล้วนเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างชุมชนที่ปลอดภัยไซเบอร์ ท่ามกลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยืดหยุ่น”
ผู้เข้าร่วมงานฟอรัมนี้ยังมีนายเคร็ก โจนส์ (Craig Jones) ผู้อำนวยการอาชญากรรมไซเบอร์ INTERPOL ศาสตราจารย์หลี่ หยูเซียว (Professor Li Yuxiao) รองประธานสถาบันศึกษาไซเบอร์สเปซ และเลขาธิการสมาคมความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งประเทศจีน รวมถึงศาสตราจารย์ซึงจู คิม (Professor Seungjoo Kim) ศาสตราจารย์โรงเรียนความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลี หัวหน้าภาควิชาป้องกันภัยทางไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยเกาหลี ทั้งหมดถกกันถึงช่องว่างด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเอเชียแปซิฟิกต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
เคร็ก โจนส์ ย้ำว่า มีผลการศึกษาที่ชี้ว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่มีช่องว่างเรื่องทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์มากติดอันดับโลก อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในวงกว้างทั่วภูมิภาค นำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และกิจกรรมอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตยังคงส่งผลกระทบต่อสังคม ทำให้กระบวนทัศน์ใหม่ก่อร่างขึ้นในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก โดยที่ความท้าทายหลักอยู่ที่ช่องว่างเรื่องความสามารถทางไซเบอร์และความสามารถของการบังคับใช้กฎหมาย ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และทั่วโลก เนื่องจากเครือข่ายอาชญากรยังคงขยายโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมต่อไป
“เพื่อที่จะเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ การบังคับใช้กฎหมายจะต้องทำในลักษณะเป็นโครงข่ายพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในระดับภูมิภาค การทำงานร่วมกัน มีส่วนร่วม และเปิดกว้างจะช่วยให้เราลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถทางไซเบอร์ได้”
ศาสตราจารย์หลี่ หยูเซียว กล่าวเสริมในแง่ของการมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ระยะยาว และร่วมกันสร้างชุมชนไซเบอร์แห่งอนาคต โดยระบุว่า การสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ในเอเชียแปซิฟิกควรมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความท้าทายที่เกิดจากการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมสร้างการพัฒนาระบบการฝึกอบรมบุคลากร ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงกุมพลังหลักในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป
ประเด็นนี้เห็นชัดจากปัจจัยเสริม นั่นคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ฐานอุตสาหกรรมที่กว้างขวาง และมีการสนับสนุนที่มากขึ้นจากรัฐบาลท้องถิ่นใน ภูมิภาคนี้จึงพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางและตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้านศาสตราจารย์ซึงจู คิม กล่าวถึงเรื่องราวความสำเร็จของหน่วยงานหลายประเทศที่ได้เริ่มปรับปรุงนโยบายและระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ สหภาพยุโรป ที่มีการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในยานยนต์ เพื่อให้มีผลบังคับใช้สำหรับรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่ผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024
บทสรุปของการเสวนานี้คือถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องทำโครงการพัฒนากำลังคนให้เป็นกองทัพบุคคลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในทุกภาคอุตสาหกรรม