นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนาเปิดเวที Virtual Forum Thailand Next episode 2 : The Future of Financial System อนาคตโลกการเงินในวันที่ 13 กันยายน 2564 ว่า เพื่อขับเคลื่อนให้ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สมาคมธนาคารไทยได้มีการทบทวนแผน 3 ปี ในเรื่องของ 4 แนวทาง ได้แก่ เพิ่มศักยภาพให้การแข่งขันของประเทศโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทางการเงิน เช่น ระบบนพร้อมเพย์ การยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล รวมไปถึงการป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการผลักดันเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค CLMV เชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินเข้าด้วยกัน พร้อมกันนั้น จะมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยนำคะแนนเครดิตทางเลือก นอกเหนือจากเอกสารทางการเงิน เช่น ข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟฟ้า มาประกอบการให้สินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล เสริมทักษะในระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
"เราจะมุ่งไปสู่การเปลี่ยนจุดยืนของประเทศ จากการวิ่งตามคนอื่น เป็นการวิ่งนำอย่างก้าวกระโดด ต่อยอดกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วร่วมมือปรับการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ที่เดิมเน้นกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เปลี่ยนเป็นมาดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีผลกับจีดีพีมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ไตรมาส 4 ปีนี้จะได้เห็นอี-อินวอยซิ่งจะทำให้ผู้ประกอบอสเอ็มอีเปลี่ยนการซื้อขายมาเป็นสภาพคล่องได้"
ด้ายนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะถูกกระทบจากปัจจัยจากองค์ประกอบภายนอก 4 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะโลกร้อน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อธุรกิจของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างความเสี่ยงและการได้ผลตอบแทนกลับคืนมา ขณะที่ด้านเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาช่วยลดกำแพงทางการเงิน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าได้หลายกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์อย่างรวดเร็วทำให้ต้องมีการปรับตัวตามอย่างรวดเร็ว และด้านกฎระเบียบ ผู้กำกับดูแลไม่สามารถหยุดยั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ต้องเปิดให้ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้ามาในตลาดในที่สุด
"จากปัจจัยดังกล่าว การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เป็นสิ่งท้าทายมาก ต้องมองธุรกิจใหม่เพิ่มเติม และที่สำคัญรูปแบบของแต่ละธนาคารพาณิชย์จะไม่เหมือนกัน โดยในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการตั้งโจทย์ไว้ 6 ปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยเปลี่ยนรูปแบบจากธนาคารพาณิชย์ ไปสู่โมเดลธุรกิจแบบใหม่ 3 ส่วนแยกจากกัน ธุรกิจธนาคาร มีโจทย์ที่ต้องทำให้ง่ายที่สุด กลุ่มธุรกิจนิวบลูโอเชียน หลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ และบริษัทเทคโนโลยี จะสร้างการเติบโตให้องค์กรได้มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19"
นายปิติ ตันฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคตยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ ธปท. สมาคมธนาคารไทย จะทำให้ทุกภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคตเติบโตมั่งคั่งยั่งยืน ซึ่งยังมีโจทย์คือ ในอนาคตจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีมีรายได้เพิ่ม เพื่อให้ได้รับเงินทุนและมีเงินมาชำระหนี้คืน ดังนั้น ธนาคารจะจับมือกันสร้างแพลตฟอร์มกลางเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย
"การที่รายย่อยเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเป็นปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เขามีรายได้เพื่อที่จะสามารถนำเงินมาใช้หนี้ได้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่เพียงแต่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งรายได้ด้วย ต้องทำอย่างไรให้รายใหญ่ผนึกรวมกับเอสเอ็มอี ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ โดยที่ให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ต้องให้มีแพลตฟอร์มระบบการเงินที่รวมทุกธนาคาร แข่งขันกับต่างชาติ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาด ถ้ามุ่งแต่ให้เงินทุนแต่ไม่ช่วยให้มีรายได้ จะเป็นการปล่อยให้เอสเอ็มอีกู้เงินแล้วไปไม่รอด ต้องมีการช่วยสร้างรายได้ด้วย"