xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์ฉลุยปี 65 แม้รายได้ ‘ไลเซนส์’ หดตัวต่อเนื่อง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริการคลาวด์เชิงพาณิชย์ของไมโครซอฟท์มีรายได้ต่อปีมากกว่า 69,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 34% ซึ่งยอดขายมากกว่า 50% มาจากนอกสหรัฐอเมริกา (ไตรมาสที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 64)
ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย (Microsoft) เคยระบุว่าปี 63 เป็นปีที่บริษัทเริ่มต้นโมเดลธุรกิจใหม่โดยไม่รอการขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ผ่านเวนเดอร์-ดิสทริบิวเตอร์แบบเดิม ทำให้สามารถเปิดตลาดสตาร์ทอัปรวมถึงบริษัทรายย่อยได้แบบไม่ต้องใช้แบรนด์ไมโครซอฟท์ออกหน้า วิธีนี้ออกผลงอกงามจนทำให้ไมโครซอฟท์พร้อมเดินหน้าต่อ ร่วมกับอีกหลายกลยุทธ์ที่เตรียมไว้สำหรับปีการเงิน 2565 ซึ่งเป็นปีที่รายได้การขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ยังคงลดลงอีก  

ในขณะที่ไม่สามารถเปิดเผยสัดส่วนรายได้ในประเทศไทย ไมโครซอฟท์รายงานผลประกอบการทั่วโลกสำหรับไตรมาสล่าสุด (สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 64) ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 64 ว่ามีรายรับโดยรวมอยู่ที่ 46,150 ล้านเหรียญสหรัฐ เบ็ดเสร็จแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว แหล่งรายได้หลักมาจากธุรกิจลูกค้าองค์กร ‘Productivity and Business Processes’ (14,690 ล้านเหรียญ) ธุรกิจที่ใหญ่รองลงมาคือกลุ่ม ‘More Personal Computing’ (14,090 ล้านเหรียญ) ซึ่งรวมรายได้จากระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) ฮาร์ดแวร์ เกม และโฆษณาบนเครือข่ายเสิร์ชเอนจิน ในขณะเดียวกัน รายได้จากการขายลิขสิทธิ์วินโดวส์ใหผู้ผลิตโออีเอ็ม (OEM) สำหรับติดตั้งล่วงหน้าบนคอมพิวเตอร์นั้นลดลง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว

การลดลงนี้ไม่มีผลอะไรกับไมโครซอฟท์ ที่ยังสามารถดันรายได้ซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร ‘ออฟฟิศ’ (Microsoft Office) ให้เพิ่มขึ้นอีก 19% ในขณะที่ชุดโปรแกรมสำหรับองค์กร หรือ Business Suite ทำรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20% จุดนี้พบว่าสมาชิกบริการ Microsoft 365 มีจำนวนรวม 51.9 ล้านรายในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 22%

ดาวเด่นของไมโครซอฟท์อยู่ที่รายได้จากธุรกิจคลาวด์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% โดยเฉพาะบริการ Azure ทำเงินเพิ่มขึ้น 51% และรายรับจากบริการคลาวด์เซอร์วิสเซสอื่นของไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้น 53% เบ็ดเสร็จแล้ว บริการคลาวด์เชิงพาณิชย์ของไมโครซอฟท์มีรายได้ต่อปีมากกว่า 69,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 34% ซึ่งยอดขายมากกว่า 50% มาจากนอกสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย ‘ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์’ เปิดเผยกลยุทธ์ที่เตรียมไว้สำหรับปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ว่าไมโครซอฟท์จะเดินหน้าไปเป็นเบื้องหลังเพื่อให้ธุรกิจรายย่อยของไทยทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน หรือเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SMB ที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไปซึ่งธนวัฒน์ พบว่าเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นมาก ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่มีพนักงานต่ำกว่า 200 คนซึ่งยังเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง

***บุกหนักช่วงโควิด-19

ธนวัฒน์ ระบุว่าปี 65 ไมโครซอฟท์มีกลยุทธ์เต็มร้อยเพื่อร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนให้สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โดยยอมรับว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาด เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการบุกตลาด

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ เผยว่าในช่วง 4 ปีที่รับตำแหน่ง MD ปีนี้คือปีที่ไมโครซอฟท์ประเทศไทยเปิดรับพนักงานใหม่มากที่สุด
ในส่วนตลาดไทย ธนวัฒน์ เผยว่ารายได้จากค่าไลเซนส์ใช้งานซอฟต์แวร์นั้นลดลงมหาศาล สวนทางกับธุรกิจที่ไมโครซอฟท์ทำได้ดีขึ้นมากในปีที่ผ่านมา นั่นคือ ‘ทีมส์’ (Microsoft Teams) ที่มีอัตราเติบโตเป็นเลข 4 หลัก เกิน 10 เท่าตัว ขณะที่ Azure เติบโตดีเป็นเลข 3 หลักมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นหลายร้อยรายในไทย ทั้งกลุ่มธุรกิจใหญ่ กลาง และเล็ก

‘ยืนยันว่าวันนี้ทุกองค์กรมาคลาวด์กันหมดแล้ว และการที่รายได้จากไลเซนส์น้อยลงนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ ไมโครซอฟท์จึงต้องการสร้างความมั่นใจมากขึ้น’

ไมโครซอฟท์สามารถสร้างความมั่นใจได้ล้นหลามในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีส่วนร่วมช่วยเหลือด้วยการเปิดให้ใช้งานบริการ 365 ฟรี 6 เดือนไม่คิดเงิน หรือการเปิดให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการกว่า 6 ล้านคนใช้ Teams เรียนออนไลน์ได้ รวมถึงการมอบ Surface ไปให้ภาคเอกชนไทย รวมถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ต้องใช้ลงทะเบียนจัดการงานโควิด-19 และการนำแชตบอทไปใช้ในระบบ call center สายด่วนเพื่อแก้ปัญหารับสายไม่ทัน ไมโครซอฟท์ยังเปิดความร่วมมือกับสตาร์ทอัปเอกชนและหน่วยงานไทยมากมายหลายโครงการในช่วงที่ผ่านมา

หนึ่งในโครงการที่สะท้อนว่าไมโครซอฟท์เข้าถึงสตาร์ทอัปไทยได้ดี คือการมีส่วนร่วมในโครงการ HackVac Korat ซึ่งสตาร์ทอัปดาวรุ่งอย่าง ‘คลาสคาเฟ่’ (Class Cafe') และเหล่าพันธมิตรได้นำเอาระบบวิเคราะห์โลจิสติกส์มาใช้กับระบบฉีดวัคซีนจนทำให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน จุดนี้มีการนำ AI ของไมโครซอฟท์ไปวิเคราะห์พื้นที่ผู้คนหนาแน่น ทำให้สามารถกระจายทราฟฟิกไปสู่พื้นที่ที่เบาบางกว่า เพิ่มความปลอดภัยและความรวดเร็วโดยมีไมโครซอฟท์เข้าไปสนับสนุน

‘ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เติบโตที่สุดของไมโครซอฟท์ คือ Teams และ Office 365 อัตราเติบโตเกิน 100% ทั้งกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรการศึกษา และยิ่งเมื่อ Windows 11 พร้อมลงตลาดช่วงปลายปี จะทำให้ผู้ใช้สามารถกดเข้า Teams เพื่อประชุมทางไกลได้สะดวกขึ้น ก็เชื่อว่าจะทำให้จำนวนการใช้งาน Teams ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก’

เซกเมนต์ไทยที่ใช้งาน Teams มากที่สุดคือกลุ่มภาคการศึกษา ธนวัฒน์ ระบุว่าตลาดการศึกษาของประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ทำโครงการสอนครูไทย 420,000 คนในเวลา 10 วัน โดยวันแรกมีครูเข้ามาลงทะเบียนเกิน 70,000 คน ถือเป็นสัญญาณแสดงความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของครูไทย

การอบรมนี้ครอบคลุมการสอนใช้ไวท์บอร์ดบน Teams รวมถึงการสอบบน Teams ด้วย หากครูคนใดไม่สามารถเข้าเรียนในช่วง 10 วันนี้ หรืออยากเรียนซ้ำก็สามารถเรียนออนดีมานด์ จุดนี้ไมโครซอฟท์ลงมือทำสื่อการสอนแบบออนดีมานด์เต็มรูปแบบ ทั้งหมดเป็นโครงการ CSR ซึ่งฟรี และมีการนำองค์ความรู้บนระบบ Linkedin Learning มาเผยแพร่ด้วย การพาครูและเด็กไทยมาใช้ Teams มีผลผลักดันต่อสถิติผู้ใช้ในระดับโลก สถิติล่าสุดพบว่าจากที่ Teams มีผู้ใช้งาน 145 ล้านคนต่อวันในเดือนเมษายน 64 ล่าสุด Microsoft Teams มีฐานผู้ใช้งานมากถึง 250 ล้านคนต่อเดือน

หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตที่สุดของไมโครซอฟท์ คือ Teams
นอกจาก Teams ธุรกิจกลุ่มข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data & AI) เป็นอีกกลุ่มที่เติบโตมาก ผลจากพฤติกรรมขององค์กรที่ต้องการสร้างโครงข่ายที่สามารถเปิดใช้งานได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน อีกพื้นที่ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกันคือระบบซิเคียวริตี (Security) ซึ่งองค์กรต้องใส่ใจมากขึ้น

***เศรษฐกิจโตได้

ไมโครซอฟท์ย้ำว่า เป้าหมายของบริษัทในช่วง 1 ปีถัดจากนี้คือการสร้างความสามารถใหม่เพื่อให้ไทยแข่งขันได้ทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทต้องการพัฒนาทักษะคนไทยให้ได้ 10 ล้านคน บนความเชื่อว่าสตาร์ทอัปจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอิมแพกต์ทางบริการด้านสุขภาพ รวมถึงช่วยดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

แม้จะมีพิษเศรษฐกิจและลูกค้าบางรายได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่เทรนด์ที่ไมโครซอฟท์พบขณะนี้คือทั้งองค์กรใหญ่ กลาง และเล็กยังไม่คิดจะลดการลงทุนเทคโนโลยี แต่ส่วนใหญ่ต้องการเพิ่มศักยภาพระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ บริษัทจึงมั่นใจว่าการเติบโตของไมโครซอฟท์จะดีกว่าที่การ์ทเนอร์ประเมินไว้มาก

การ์ทเนอร์นั้นประเมินว่ามูลค่าการใช้จ่ายไอทีไทยปี 64 จะเพิ่มขึ้น 4.9% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 63 ที่ติดลบ 4.5% ภาพรวมเม็ดเงินวงการไอทีดีขึ้นเพราะคลาวด์สาธารณะมีการใช้งานในไทยเพิ่มขึ้น 31.7% เป็นตัวเลขที่ยืนยันว่าการใช้คลาวด์ในไทยเติบโตเร็วมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 23.1%

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์มองว่ายังต้องการกฎหมายไทยที่ระบุขอบเขตความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้ชัดเจน โดยย้ำว่าไทยควรมีกฎหมายกำหนดให้ ‘ข้อมูลลูกค้าเป็นของลูกค้า’ กฎหมายนี้จะทำให้ผู้ที่ต้องการข้อมูล ต้องไปดำเนินการขอข้อมูลที่ลูกค้า ไม่ใช่มาขอที่ไมโครซอฟท์ ซึ่งจะช่วยให้บริการคลาวด์มีความโปร่งใสมากขึ้นในตลาดไทย

ในฐานะผู้นำ ธนวัฒน์ ยกความดีของการเติบโตทั้งหมดให้ทีมงาน ซึ่งต้องประชุมงานทุกสัปดาห์ บนโฟกัสหลักคือการเน้นให้พนักงานและครอบครัวปลอดภัยจากโรคโควิด-19 รวมถึงมีเครื่องจ่ายออกซิเจนให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน

‘ในช่วง 4 ปีที่รับตำแหน่งมา ปีนี้คือปีที่เราเปิดรับพนักงานใหม่มากที่สุด ปีนี้เป็นปีที่ผมจะเปลี่ยนคนในองค์กร ให้ผ่านขีดที่เคยรับผิดชอบอยู่ ให้หันมาทำในด้านใหม่’

เป็นการมอบหมายบทบาทใหม่ ซึ่งจะทำให้ไมโครซอฟท์ฉลุยยิ่งขึ้นในปี 65


กำลังโหลดความคิดเห็น