AIS สานต่อความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ร่วมกับ Microsoft เปิดโครงการนำเทคโนโลยี เครือข่าย ความเชี่ยวชาญ พร้อมเชื่อมต่อบริการเข้าสู่ฐานลูกค้า หนุนสตาร์ทอัปไทยปรับตัวรับความท้าทายกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต
นายซันเจย์ แอนดรูว์ โทมัส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ที่ผ่านมา 4 เหตุผลหลักที่ทำให้สตาร์ทอัปล้มเหลว คือ 1.ผลิตภัณฑ์ หรือบริการไม่เข้าไปตอบโจทย์การใช้งาน 42% 2.ไม่สามารถระดมทุนเพิ่มได้ทำให้เงินลงทุนหมด 29% 3.ทีมงานขาดความเชี่ยวชาญ (23%) และ 4.ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
“ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่ในจุดที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ต้นทุนในการเริ่มต้นกิจการต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ พร้อมกับมีตลาดที่รองรับด้วยจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน ทำให้ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงความเป็นสถานที่แห่งการเริ่มต้นสตาร์ทอัป”
ในปี 2020 มีข้อมูลการระดมทุนของสตาร์ทอัปที่เปิดเผยในประเทศไทยมากกว่า 30 ดีล คิดเป็นมูลค่าการลงทุนมากกว่า 365 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12,220 ล้านบาท และสัดส่วยการลงทุนกว่า 25% อยู่ในกลุ่มของ FinTech
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ คือ ทำอย่างไรให้เกิดการสนับสนุนสตาร์ทอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น
โดยจุดมุ่งหมายของทั้ง AIS และไมโครซอฟท์ ที่เห็นตรงกันคือ มีการตั้งทีมงานสำหรับการซัปพอร์ตสตาร์ทอัป โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อเข้าไปหนุนสตาร์ทอัปให้เข้าถึงแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เมื่อสตาร์ทอัปสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์ ทำให้สตาร์ทอัปสามารถโฟกัสอยู่กับไอเดียของธุรกิจ เข้ามาผสมผสานกับการประมวลผลด้วยคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม”
นอกจากนี้ ด้วยการที่ทั้ง AIS และ Microsoft มีฐานลูกค้าตั้งแต่ระดับผู้บริโภคทั่วไป จนถึงกลุ่มลูกค้าองค์กรระดับเล็ก กลาง และใหญ่ ทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่ จนถึงในระดับอาเซียนจากกลุ่มสิงเทล (Singtel) และในระดับโลกของ Microsoft
ขณะเดียวกัน จากความร่วมมือระหว่าง AIS และ Microsoft ภายในโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัป จะช่วยเพิ่มความเร็ว (Speed) ทำให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของ Microsoft ได้เร็วขึ้น พร้อมการใช้งานเครือข่ายพิเศษของ AIS ที่เชื่อมต่อไปยัง Microsoft โดยตรง
ถัดมาคือความคุ้มค่า (Saving) จากสิทธิประโยชน์ในการใช้งานสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของ Startup ในราคาที่พิเศษ และคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นใช้งานบน Cloud Microsoft Azure ได้ฟรี เครื่องมือต่างๆ ที่ให้เพิ่มเติมในการใช้งานฟรี เช่น Microsoft Teams, Microsoft 365 เป็นต้น
สุดท้ายคือความเข้าใจ (Solutions) สำหรับ Startup ในโครงการสามารถเลือกใช้โซลูชันต่างๆ ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น Cloud : Microsoft Azure, Development : Visual Studio Enterprise, Productivity : Microsoft 365, Dynamic 365 : for Sales ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานดีขึ้น สร้างรายได้การเติบโตที่เร็วและมั่นคง
ทั้งนี้ โครงการ “AIS x Microsoft for Startups” ถือเป็นพันธมิตรรายแรกอย่างเป็นทางการและเป็นรายเดียวในประเทศไทย เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนศักยภาพของสตาร์ทอัปไทย รวมถึงโอกาสในการเร่งการเติบโตของธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อกับลูกค้าและพันธมิตร