xs
xsm
sm
md
lg

SAS สางปมไทยขาดแคลน “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ประเดิมหลักสูตรใบเซอร์ใหม่ขยายฐานปีแรกเพิ่ม 500 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลักสูตรนี้ไม่เพียงทำให้นักศึกษามีความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบวิเคราะห์ของ SAS แต่บริษัทเชื่อว่าจะช่วยป้อนทรัพยากรบุคคลเข้าสู่วงการเทคโนโลยีไทยที่กำลังมีความต้องการบุคลากรสูงขึ้น
แซสซอฟท์แวร์ (SAS) กระทุ้งไทยแก้ปัญหาขาดแคลน “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” เปิดตัวหลักสูตรประกาศนียบัตรซอฟต์แวร์ SAS สำหรับผู้เชี่ยวชาญรุ่นเยาว์เพื่อนักศึกษาไทยเป็นครั้งแรก เผยส่วนที่ไทยขาดแคลนรองลงมาคือนักวิเคราะห์ธุรกิจ และผู้ออกแบบโมเดลการวิเคราะห์ ซึ่งขาดแคลนมากในธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม รวมถึงธุรกิจพลังงานและค้าปลีก ระบุเล็งร่วมมือภาครัฐเพื่อขยายไปยังกลุ่มอาชีวะในอนาคต มั่นใจโครงการใหม่ช่วยอุดช่องว่างประเทศไทยผลิตนักศึกษาที่มีงานรองรับ จนสามารถดันภาพไทยเป็นประเทศที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้ดีขึ้น

นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศอาเซียนกลุ่มต้นๆ ที่ขาดทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสิงคโปร์มีการส่งเสริมก่อนประเทศไทยทำให้ทักษะด้านนี้มีความเข้มแข็งกว่า แต่สำหรับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นั้นถือว่าขาดแคลนสูงใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเหตุให้ SAS ต้องการจุดพลุโครงการนี้ในประเทศไทย

“หากประเทศไทยผลิตนักศึกษาด้านวิเคราะห์ข้อมูลที่มีงานรองรับ จะสามารถดันประเทศให้มีภาพลักษณ์เป็นประเทศที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศไทย 4.0 ได้เต็มที่”

SAS นั้นเป็นบริษัทซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ซึ่งนิยมใช้ในหน่วยงานขนาดใหญ่หลายด้านที่ต้องการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การสำรวจล่าสุดที่พบว่าโลกจะขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 250,000 คนในปี 2024 ทำให้ SAS ต้องการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยมองว่าปัญหานี้จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นเป็นเส้นทางที่ทุกบริษัทต้องเดินไป

การสำรวจในช่วงกลางปีที่แล้ว พบว่านักศึกษาไทยมีปริมาณการตกงานมากกว่าแสนคน โดยปัญหาการหางานไม่ได้นี้เกิดในช่วงต้นของวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปีนี้ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ในเมื่อประเทศไทยมีช่องว่างด้านทักษะ โดยเฉพาะทักษะในกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูล SAS จึงมองว่าตัวเองเป็นซอฟต์แวร์สามารถช่วยได้ กลายเป็นที่มาที่ไปของหลักสูตร SCYP ซึ่งนำเสนอครั้งแรกในประเทศไทย

 นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ชื่อเต็มของหลักสูตรนี้คือ SAS Software Certified Young Professionals จุดหลักคือการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านระบบวิเคราะห์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดการจ้างงานอันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิเคราะห์ที่เพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาค

หลักสูตรนี้ไม่เพียงทำให้นักศึกษามีความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้ระบบวิเคราะห์ของ SAS แต่บริษัทเชื่อว่าจะช่วยป้อนทรัพยากรบุคคลเข้าสู่วงการเทคโนโลยีไทยที่กำลังมีความต้องการบุคลากรสูงขึ้น โดยย้ำว่าปัจจุบันกลุ่มธุรกิจต้องการบุคลากรที่ได้รับการรับรองแล้วซึ่งสามารถเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ข้อมูลสร้างแบบจำลอง รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลที่สามารถสร้างคุณค่าที่ดีที่สุดให้ได้แก่องค์กรได้ กลุ่มองค์กรจึงอยากรับนักศึกษาที่มีทักษะด้านการวิเคราะห์เข้ามาร่วมงานด้วย

หลักสูตร SCYP ของ SAS เปิดให้นักศึกษาสมัครเรียนประกาศนียบัตรของ SAS ในด้านการโปรแกรมมิ่ง การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และระบบวิเคราะห์ด้วยภาพ (Visual Analytics) ด้วยวิธีการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพตนเอง หลักสูตรนี้ยังเอื้อให้นักศึกษามีส่วนร่วมและได้ทำงานร่วมกันซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ง่ายยิ่งขึ้น โดยให้นักเรียนเข้าร่วม SAS Communities และลงทะเบียนสำหรับการสัมมนาออนไลน์สดซึ่งบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจาก SAS โดยนักศึกษาสามารถซักถามและได้รู้ข้อมูลล่าสุดอีกด้วย

เมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งและเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องแล้ว นักศึกษาจึงจะสามารถเข้าสอบใบประกาศได้ โดยเราจะมีผู้เชี่ยวชาญจาก SAS คอยให้คำแนะนำเรื่องการเตรียมตัวและวิธีการใช้ตัวอย่างข้อสอบที่จะช่วยให้นักศึกษาเพิ่มพูนประสบการณ์เรียนรู้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามสอบ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรนี้ SAS ยังช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษากับลูกค้าของ SAS ที่กำลังมองหามืออาชีพรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลอยู่อีกด้วย

การสำรวจในช่วงกลางปีที่แล้ว พบว่านักศึกษาไทยมีปริมาณการตกงานมากกว่าแสนคน
ในประเทศไทย SAS ระบุว่า ได้สนับสนุนทุนส่วนหนึ่งเพื่อการเรียนหลักสูตรออนไลน์ต่างๆ โดยเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือบุคคลที่จบการศึกษาแล้วไม่เกิน 2 ปี ระยะเวลาการเรียนแต่ละวิชาเฉลี่ยคอร์สละ 20 ชั่วโมงต่อวิชา สามารถเรียนภายในระยะเวลา 180 วัน

เป้าหมายสำหรับโครงการนี้คือการเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่มีทักษะวิเคราะห์ข้อมูลและได้รับใบเซอร์ฯ กับ SAS เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200-500 คนในปีนี้ เพื่อขยายฐานจากเดิมที่นักศึกษามักจะสอบราว 1,000 คน โดยขณะนี้ SAS ได้ร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยไทย ในคณะที่หลากหลายทั้งบัญชี บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการยืนยันว่า SAS เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารธุรกิจจนถึงงานด้านเศรษฐศาสตร์

สำหรับช่วงโควิด-19 บริษัทให้การช่วยเหลือด้วยการเปิดให้นักศึกษาสามารถลงซอฟต์แวร์ SAS.o เครื่องที่ส่วนตัวโดยไม่ต้องมาที่ศูนย์ปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เบื้องต้น พบว่ามีนักศึกษาที่โหลดซอฟต์แวร์ SAS ไปใช้แล้วกว่า 2,000 คน

ทั้งหมดนี้ผู้บริหารยอมรับว่าถือเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ที่สอดคล้องกับ CEO ผู้ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 46 ปี ซึ่งทำโครงการสนับสนุนการศึกษามาตลอด โดยกว่า 20 ปีที่ผ่านมา SAS มีการนำโครงการสนับสนุนมาทำในประเทศไทยแล้ว แต่สำหรับหลักสูตร SCYP ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทเน้นเป้าหมายต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับตลาด ดังนั้นแม้จะเป็น CSR แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้ SAS เป็นรูปธรรม

ในส่วนธุรกิจของ SAS บริษัทเผยว่าโควิด-19 มีส่วนทำให้บริษัทมีลูกค้าที่เป็นสถาบันอื่นที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านการรักษาหรือเกี่ยวข้องกับยารักษาโควิด-19 รวมถึงวัคซีนที่จำเป็นต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้หน่วยงานจัดการ


กำลังโหลดความคิดเห็น