xs
xsm
sm
md
lg

กูเกิล-ปตท.ครองนายจ้างยอดนิยม ท่องเที่ยว-โรงแรมยังยอดฮิตสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยูนิเวอร์ซัมเผยผลสำรวจ “Universum 2021 Thailand” ชี้นักศึกษาไทยให้ความสำคัญเรื่อง “ฐานเงินเดือน” และ “ประโยชน์จากการทำงาน” มากที่สุด โดย กูเกิล และ ปตท.ครองตำแหน่งนายจ้างยอดนิยม

• กูเกิล ครองตำแหน่งนายจ้างในอุดมคติยอดยี่ยมในกลุ่มนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์
• ปตท.เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์
• นักศึกษาทั้งหมดระบุว่า ฐานเงินเดือนและประโยชน์จากการทำงานที่มากกว่า ถือเป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุด
• แม้ 88% ของนักศึกษาสายธุรกิจ และ 84% ของนักศึกษาภาควิศวกรรมศาสตร์ ต้องการทำงานในองค์กรเอกชนเป็นหลัก แต่บริษัทรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์กรมหาชนอย่าง ปตท.และ กฟผ.ยังติด 3 อันดับแรกของนายจ้างในอุดมคติ
• กูเกิล ปตท. และปูนซิเมนต์ไทย ติดอันดับนายจ้างที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

ยูนิเวอร์ซัม (Universum) ผู้นำด้านการสร้างแบรนด์ประเภทองค์กรในระดับสากล เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกผลการสำรวจบุคคลผู้มีทักษะสูงทั่วโลกฉบับประเทศไทย เพื่อวัดระดับความน่าสนใจขององค์กรในตลาดแรงงานไทย และตรวจสอบความต้องการด้านการทำงานของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงงานในอนาคต

กูเกิล ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีครองตำแหน่งนายจ้างยอดนิยมอันดับหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ แต่ ปตท.สามารถแซงหน้ากูเกิลและกลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์

บริษัทในอุตสาหกรรมโรมแรมและค้าปลีกยังเป็นที่นิยมแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

องค์กรนายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ คือ กูเกิล ตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงเมืองไทยซึ่งครองอันดับ 3 ในขณะที่ คิง เพาเวอร์ ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลีกสำหรับนักเดินทางอยู่อันดับ 4 โดยอุตสาหกรรมที่นักศึกษาชื่นชอบนั้นมีความหลากหลาย โดยธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด (39%)


นายพราทิก ซาเบอวัล หัวหน้าที่ปรึกษา ยูนิเวอร์ซัม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “แม้จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดและการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ หากบุคคลผู้มีทักษะสูงยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นข่าวดีมากสำหรับประเทศที่มีแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงนี้”

ปตท. กฟผ. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังรั้งอันดับต้นๆ ของบริษัทนายจ้างในอุดมคติ แม้นักศึกษาสนใจทำงานในภาคเอกชนอย่างมาก

ในขณะที่นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานในภาคเอกชน (88% ของนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ และ 84% ของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์) หากยังมีนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์กว่า 73% และนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ราว 74% คาดหวังจะได้ทำงานในองค์กรที่มีการดำเนินงานระดับโลก โดยบริษัทมหาชนยังคงเป็นตัวเลือกที่นักศึกษาส่วนมากต้องการเข้าไปทำงาน

บริษัทมหาชนอย่าง ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติด 3 อันดับแรกนายจ้างในอุดมคติ โดย ปตท.ครองอันดับ 1 และ กฟผ.ครองอันดับ 3 นายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครองอันดับ 2 ในหมู่นักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์

“ในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกจ้างบริษัทเอกชนต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนแบบฉับพลัน ทำให้กลุ่มผู้มีทักษะสูงในอนาคตรู้สึกเปิดกว้างมากขึ้นต่อองค์กรภาครัฐบาลที่มีความมั่นคงสูง เนื่องจากข้าราชการพลเรือนยังมีอัตราเงินเดือนคงที่ การสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า ปตท.เป็นบริษัทนายจ้างที่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจอย่างมาก เช่น การเสนอฐานเงินเดือนที่สูงกว่า ผลประโยชน์ที่มากกว่า การจ้างงานที่มั่นคง และการให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด 4 ข้อที่นักศึกษาต้องการ” นายพราทิก ซาเบอวัล กล่าว


กูเกิล ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย ติดอันดับนายจ้างที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

สำหรับการใช้ช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ เว็บไซต์ขององค์กรนายจ้างยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกใช้งานมากที่สุด โดยคิดเป็น 52% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นักศึกษา 47% ยังระบุว่าเริ่มหันมาใช้เฟซบุ๊กและกูเกิลพลัส (41%) ในการค้นหาข้อมูลของนายจ้างในอนาคต โดยในหมู่นักศึกษาที่ทำแบบสำรวจ กูเกิล ปตท. และปูนซิเมนต์ไทย ติด 3 อันดับแรกของนายจ้างที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

เนื่องจากเฟซบุ๊กได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยมากกว่าโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ อย่างอินสตาแกรมหรือลิงก์อิน ดังนั้น บุคคลผู้มีทักษะสูงจึงใช้เว็บไซต์ทางการของบริษัทในการศึกษาเกี่ยวกับนายจ้าง และใช้เฟซบุ๊กเพื่อพิจารณาว่าผู้คนมีส่วนร่วมกับบริษัทนั้นอย่างไร และในฐานะนายจ้าง บริษัทมักจะแบ่งปันคอนเทนต์เกี่ยวกับองค์กรของตนเองในรูปแบบใด

“นายจ้างควรออกแบบการสร้างแบรนด์ของตนเอง ผ่านการระบุลักษณะความแตกต่างที่สำคัญและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องเมื่อมีเป้าหมายในการค้นหาผู้สมัครงานที่มีความแตกต่าง เนื่องจากบรรดานายจ้างในประเทศไทยล้วนตื่นตัวอย่างมากบนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้มีทักษะสูงมักใช้เฟซบุ๊กเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประสบการณ์ของลูกจ้างในบริษัท เป็นการใช้งานแพลตฟอร์มยอดนิยมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะช่วยให้ผู้มีทักษะสูงรู้ว่าจะสามารถคาดหวังสิ่งใดจากการทำงานในองค์กรของคุณ” นายพราทิก ซาเบอวัล กล่าวเสริม

ไฮไลต์อื่นๆ จากการสำรวจครั้งนี้คือ นักศึกษาคิดว่าการบริหารที่ส่งเสริมความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล (77%) ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญบนโซเชียลมีเดีย ตามมาด้วยโอกาสการก้าวหน้าในสายงาน (75%) และแนวคิดของผู้บริหารบริษัท (73%)


ความไม่เสมอภาคของค่าตอบแทนระหว่างเพศยังปรากฏในสาขาธุรกิจ/พาณิชย์ และวิศวกรรมศาสตร์

เงินเดือนรายปีที่นักศึกษาในประเทศไทยคาดหวังคือ 431,689 บาท โดยนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์มีความคาดหวังเรื่องเงินเดือนสูงกว่า โดยเฉลี่ยคาดหวังค่าตอบแทนต่อปีที่ 452,869 บาท ในขณะที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ คาดหวังที่ 434,663 บาท สาขาธุรกิจ/พาณิชย์มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศที่ 14% โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังเงินเดือนต่ำกว่านักศึกษาชาย ส่วนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศน้อยกว่าอย่างชัดเจน โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังต่ำกว่านักศึกษาชายที่ 8%

เกี่ยวกับการจัดอันดับ 100 นายจ้างในอุดมคติของยูนิเวอร์ซัมประจำปี 2564 ฉบับประเทศไทย (Universum 2021 Top 100 Ideal Employer Rankings - Thailand Edition)

ผลการสำรวจประมวลจากคำตอบของนักศึกษาจำนวน 11,554 รายในสาขาธุรกิจ/พาณิชย์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กฎหมาย และสุขภาพ/การแพทย์ และการประเมินผลบุคคล 22,757 ครั้งโดยบริษัทนายจ้าง 123 ราย โดยผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละรายจะถูกถามเกี่ยวกับความชื่นชอบเรื่องต่างๆ ในด้านการทำงาน ความคาดหวัง และตัวขับเคลื่อนที่เกี่ยวกับการจ้างงาน และให้พิจารณารายชื่อนายจ้างทั้งระดับประเทศและระดับสากลจำนวน 123 รายซึ่งเสนอชื่อโดยกลุ่มตัวอย่างผ่านระบบการเสนอชื่อและการประเมินผลทั้งแบบอิสระและเชิงโครงสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ มีอิทธิพลต่อสถานะการทำงานของผู้ทำแบบสำรวจ โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้การยอมรับบริษัทที่พวกเขาจะพิจารณาเข้าทำงาน โดยในจำนวนบริษัทที่ถูกเลือกเป็น “นายจ้างที่ถูกพิจารณา” ผู้ตอบแบบสอบถามจะเลือก “นายจ้างในอุดมคติ” 5 อันดับ และตอบคำถามเกี่ยวกับแบรนด์นายจ้างนั้นๆ ตามความเข้าใจตามกรอบการประเมินผลสากล Drivers of Employer Attractiveness ของยูนิเวอร์ซัม ซึ่งการจัดอันดับนี้เป็นการวัดระดับความน่าดึงดูดใจของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ในตลาดแรงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น