ดีอีเอสลงนามสัญญา NT มอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหลังไทยคมสิ้นสุดสัมปทาน นับถอยหลังวันโอนกิจการไทยคม 4 และ 6 กลับคืนสู่รัฐ 11 ก.ย.นี้ “ชัยวุฒิ” ย้ำเป็นก้าวสำคัญของไทยสู่ความมั่นคงด้านการสื่อสารผ่านดาวทียม และรักษาสิทธิวงโคจร
วันนี้ (30 ก.ค.) ได้มีการลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT โดยมี น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส และนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน NT ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ NT เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 10 ก.ย.2564
ทั้งนี้ การให้ NT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย
“การมอบสิทธิให้ NT เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศที่จะมีการโอนคืนมาให้แก่รัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (119.5 องศาตะวันออก) และดาวเทียมไทยคม 6 (78.5 องศาตะวันออก) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้” นายชัยวุฒิ กล่าว
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวว่า การที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำเนินงานในครั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจให้ NT ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการที่ภาครัฐมีดาวเทียมสื่อสารเป็นของตัวเองจะก่อให้เกิดความมั่นคงในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ และทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ NT เป็นผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมดาวเทียมของไทย เพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมของไทย โดยผู้ใช้บริการและประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ด้านนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า การดำเนินการตามสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2564 โดยกระทรวงดีอีเอส ต้องส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เพื่อให้ NT นำไปประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทดาวเทียมในลักษณะที่เป็นการให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียม ทั้งด้านโทรคมนาคมและด้านการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการประกอบกิจการหรือการให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม (Transponder) เพื่อสนับสนุนงานของหน่วยงานรัฐ
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินโครงการนี้ รมว.ดีอีเอส จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการบริหารจัดการทรัพย์สินขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงฯ กับผู้แทนบริษัทฝ่ายละเท่าๆ กันเป็นกรรมการ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาหรือร่วมเป็นกรรมการ ในการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตามความตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญา ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ การตรวจสอบข้อมูลร่วมกันในเรื่องค่าใช้จ่าย และค่าตอบแทนการใช้สิทธิบริหารจัดการทรัพย์สิน โดยค่าตอบแทนรวมในแต่ละปีอิงอยู่บนพื้นฐานรายได้และกำไรของดาวเทียมทั้ง 2 ดวง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ดีอีเอส และ NT ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมาย และข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU (International Telecommunication Union) ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการดาวเทียม