ไทยคม ต่อยอดบริการ ‘Nava’ ใช้สื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทางทะเลผ่านจานรับ-ส่งสัญญาณขนาดเล็ก 45 เซนติเมตร ขยายตลาดสู่ผู้ประกอบการเดินเรือขนาดเล็ก ต่อยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมดาวเทียม และอวกาศ
นับตั้งแต่ปี 2561 ไทยคมได้เปิดตัว “Nava” บริการสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทางทะเลเป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมเพื่อให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เว้นแม้อยู่ในท้องทะเล
ด้วยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของไทยคม คือ การมุ่งเน้นพัฒนาบริการใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันคิดค้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเดิม และขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหม่ และด้วยประสบการณ์ในการร่วมดำเนินธุรกิจกับพันธมิตรและคู่ค้ามากมาย
ทำให้ไทยคมค้นพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการพัฒนา ต่อยอด และออกแบบจานรับและส่งสัญญาณที่มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการช่วยส่งเสริมและพัฒนาการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้าอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงได้เป็นอย่างดี
ไทยคมจึงได้จัดทำโครงการนำร่องในการศึกษาวิจัยร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาจานรับและส่งสัญญาณขนาดเล็ก 45 เซนติเมตร ด้วยเป้าหมายหลัก คือ เพิ่มขีดความสามารถและขยายการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทะเล ไปยังกลุ่มผู้ใช้งานและผู้ประกอบการเดินเรือขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัด เช่น เจ้าของเรือประมงขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการเดินเรือใกล้ชายฝั่ง
โดยจานรับและส่งสัญญาณที่ไทยคมได้พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้องค์ความรู้ภายในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านการผลิต ด้านเทคโนโลยี รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการผลิตในประเทศอย่างแท้จริง โดยไทยคมได้วางแผนทดสอบการใช้งานจริงบนเรือภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 จากนั้นจะเก็บข้อมูลเพื่อมาพัฒนา ก่อนนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต่อไป
ในอนาคต ไทยคมยังมีแผนในการพัฒนาจานรับและส่งสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ เพื่อขยายตลาดสู่เรือขนาดใหญ่ รวมถึงการพัฒนาให้จานรับสัญญาณดาวเทียมสามารถรับและส่งสัญญาณจากดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit Satellite) ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของไทยคม ที่จะเน้นการพัฒนาบริการเทคโนโลยีผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อสามารถรองรับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว