xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” เบรก “กสทช.รักษาการ” ประมูลดาวเทียม 24 ก.ค.นี้ แนะรอชุดใหม่ วอนคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชัยวุฒิ" เบรก “กสทช.” ชุดรักษาการ เร่งประมูลวงโคจรดาวเทียม 24 ก.ค.นี้ หวั่นกระทบการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมหลังหมดสัญญา แนะควรให้ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาจัดการ เหตุมีผลกระทบผูกพันในระยะยาว โดยเฉพาะด้านความมั่นคง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อเปิดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 24 ก.ค.64 ล่าสุด ตนได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไป และรอ กสทช. ชุดใหม่ที่อยู่ในกระบวนการสรรหาเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้ กสทช. ชุดรักษาการในปัจจุบันทราบว่า ขณะนี้กระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบมอบหมายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศสิ้นสุดลง

ดังนั้น หาก กสทช. ดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา โดยเฉพาะสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ยังมีภาระผูกพันที่จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 10 ก.ย.64 เพราะหากมีกรณีไทยคม 4 เกิดข้อขัดข้อง เสียหาย ก่อนสิ้นอายุสัญญา บริษัทคู่สัญญาต้องรับผิดชอบจัดหาดาวเทียมทดแทนในระยะเวลาตามสัญญา

"กสทช.ชุดรักษาการควรพิจารณาชะลอการประมูล โดยคำนึงถึงการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มีความสำคัญ และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน รวมทั้งยังควรมีแนวทางดำเนินการ ในทิศทางเดียวกับแนวนโยบายของบอร์ดดีอีด้วย” รมว.ดีอีเอส กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า อีกทั้ง กสทช.ชุดปัจจุบันยังเป็นชุดรักษาการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ คาดว่าจะได้ผู้เข้ามาทำหน้าที่ กสทช. ชุดใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ดังนั้น กสทช.ชุดรักษาการจึงควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมออกประมูล ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการบริหารงานราชการแผ่นดิน ไม่ให้เกิดข้อติดขัดในการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา รวมถึงความต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่าน และต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความมั่นคงของรัฐ

“การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีผลผูกพันระยะยาว โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงแห่งรัฐ กระทรวงดีอีเอส จึงเห็นว่าเพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ควรรอให้การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ในขณะนี้เสร็จสิ้น และให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามารับผิดชอบพิจารณาดำเนินการจะมีความเหมาะสมมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาใดๆ ตามมาในภายหลัง" นายชัยวุฒิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น