xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึงอดีตเลขาฯ กสทช. ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เทียบกันชัดๆ มาตรการช่วยเหลือประชาชน ช่วงโควิด-19 สมัย ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ นั่งในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ช่วงปี 2563 กับปัจจุบันที่วังเวงเคว้งคว้างไร้ความหวัง

สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันรุนแรงและแพร่เชื้อรวดเร็วกว่าระลอกแรกเป็นอย่างมาก ประชาชนต้องเผชิญภาวะยากลำบากแสนสาหัส โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐและวิสัยทัศน์ของผู้นำที่เดินตามปัญหา ต้องรอให้ปัญหาเกิดถึงคิดจะแก้ไข ไม่มีความสามารถหามาตรการมาดักปัญหา หรือวางแผนแก้ไขปัญหาล่วงหน้า

แม้อาจช้าไปบ้างแต่ยังดีที่ไหวตัวทัน เมื่อถูกสะกิดก็เด้งรับรีบแก้ไข ‘ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล’ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ระบุว่า สำนักงาน กสทช. มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 รายได้แก่ AIS TRUE DTAC และ NT ให้ยกเว้นค่าบริการเมื่อประชาชนโทร.ติดต่อเลขหมายสั้น 4 หลัก ของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ให้บริการประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสนับสนุนการดูแล ป้องกัน แจ้งเตือน ให้ความช่วยเหลือประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

ในขณะที่ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงว่า ประชาชนสามารถใช้บริการ ‘โทร.ฟรี’ สายด่วนของหน่วยงานรัฐทั้ง 8 เลขหมาย ได้แก่ 1330, 1323, 1422, 1646, 1668, 1669, 1506 และ 1111 ที่รองรับการให้บริการข้อมูล ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ให้คำปรึกษาแนะนำ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ การหาเตียง สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแล ป้องกัน แจ้งเตือนและให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะสถานการณ์ที่ฉุกเฉินและเร่งด่วน

‘ใครจะไปนึกว่าประชาชนโทร.ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐในภาวะวิกฤต ยังถูกคิดค่าบริการ’

เทียบกันให้เห็นชัดๆ กับแนวคิดดักปัญหา ไม่งอมืองอเท้ารอให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยคิดแก้ไข ย้อนไปเมื่อโควิด-19 ระบาดครั้งแรก แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังมีไม่สูงนัก แต่ ‘ฐากร’ ตอนที่เป็นเลขาธิการ กสทช.ก็เห็นถึงความสำคัญในการติดตามตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อให้รับรู้การเดินทางของผู้เข้ามาในประเทศทำให้เกิดความร่วมมือกับแอปพลิเคชัน AOT Airports มีการแจกซิมการ์ดราคา 49 บาทฟรี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้ผู้ที่เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่กรมควบคุมโรคประกาศตามกฎหมายต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AOT Airports ทุกคนส่วนที่เหลือจะขอความร่วมมือตามมาตรา 12 (7) ตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากไม่ดาวน์โหลดจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศตามกฎหมาย ตม.

ต่อมา เมื่อมีนโยบายให้ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ‘ฐากร’ ก็เล็งเห็นความสำคัญว่าประชาชนต้องมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นตามลำดับด้วยการที่ต้องทำงานที่บ้านในขณะที่นักเรียน นักศึกษาต้องเรียนที่บ้านเช่นกัน ‘ฐากร’ จึงไม่รอช้าในการเรียกเหล่าโอเปอเรเตอร์มาหารือและออกมาตรการช่วยเหลือค่าเน็ตให้ประชาชนด้วยการเพิ่มอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ 10 GB และ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) 100 Mbps ให้ประชาชน 30 วัน ฟรี ด้วยงบประมาณของ กทปส. 3,000 ล้านบาท รวมทั้งขอความร่วมมือโอเปอเรเตอร์ให้ประชาชนโทร.ฟรี 100 นาที โดยไม่ใช่เป็นการโทร.ในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น แต่สามารถโทร.ข้ามเครือข่ายหากันได้ด้วย ซึ่งเหล่าโอเปอเรเตอร์ต่างยอมกลืนเลือดเพื่อร่วมกันช่วยเหลือประชาชน

รวมถึงการชงเรื่องเข้าคณะกรรมการ กสทช.เพื่อประกาศตัดโบนัสปี 2563 จำนวน 200 ล้านบาทของพนักงาน กสทช.กว่า 1,000 คน เพื่อนำเงินคืนแผ่นดินเพราะรัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่าย เพราะทนไม่ได้กับความเดือดร้อนของประชาชนแม้พนักงานบางส่วนจะไม่เห็นด้วยแต่มีการขอร้องกันเพื่อให้ กสทช.เป็นหน่วยงานตัวอย่างในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยให้เกลี่ยเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสำนักงาน กสทช.รวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเปิดโอกาสให้โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ของรัฐขอรับการสนับสนุนดังกล่าวในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

‘ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ไม่มีเวลาแล้วครับที่เราจะคิดนาน เราต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน อยู่บนพื้นฐานการทำงานอย่างโปร่งใส คงไม่มีใครคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ทำในภาวะวิกฤตเช่นนี้จะถูกตรวจสอบภายหลังหรือไม่ หากไม่ช่วยกันเราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันไม่ได้’ ฐากร กล่าวในขณะที่ยังเป็นเลขาธิการ กสทช.

สิ่งที่ ‘ฐากร’ ทำตอนนั้นไม่จำเป็นต้องรับคำสั่งใคร หรือเสัยงก่นด่าจากประชาชนมาแล้วค่อยลงมือทำแต่คิดและทำภายใต้ความต้องการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ถ้า ‘ฐากร’ ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบใน กสทช. เราคงเห็นการเสนอแนวทางให้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ประสานกับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จัดให้ประชาชนได้ใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตฟรีทั้งประเทศ ประเมินคร่าวๆ ต้องใช้เงินราว 7,000-8,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเขารู้ว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้ และให้ชะลอหนี้ค่าโทรศัพท์มือถือและค่าอินเทอร์เน็ต จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กลับสู่ภาวะปกติ

‘ตอนนี้ยิ่งลำบากกว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์วิกฤตเหลือเกิน อย่างน้อยถ้าออกมาช่วยประชาชนแบ่งเบาภาระค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเทอร์เน็ต ก็ยังดีกว่าไม่คิดทำอะไรเลย’


กำลังโหลดความคิดเห็น