การที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ตัดสินใจยกเลิกการอัปเดตเวอร์ชันใหม่ให้แก่ Windows 10 ที่ตอนเปิดตัวระบุชัดเจนว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นสุดท้ายของไมโครซอฟท์ เปลี่ยนมาเป็นการเปิดตัว Windows 11 แทน ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งในยุคที่โมบายแอป และสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางหลักให้ผู้ใช้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล
ในช่วงที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์เริ่มเผชิญปัญหาจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากสมัยก่อนที่การเข้าสู่โลกดิจิทัล หรือออนไลน์จะเกิดขึ้นผ่านการใช้งานโปรแกรมต่างๆ บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้งานเทคโนโลยีของใครหลายๆ คน
แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องจากคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนต่างเข้าถึงดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน ที่มีแอปพลิเคชันจำนวนมหาศาลให้เลือกใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ โลกของการใช้งานพีซีจึงเหลือแต่กลุ่มผู้ที่ใช้เพื่อทำงาน และความบันเทิงเป็นหลัก
ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 ที่การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งวิดีโอคอลล์ และแชต กลายมาเป็นฟีเจอร์หลักที่ช่วยให้ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานสามารถติดต่อ พูดคุย และใกล้ชิดกันได้ การเพิ่มความสามารถให้ Windows 11 ทำงานร่วมกับโมบายดีไวซ์ต่างๆ ได้จึงเข้ามาปลดล็อกการให้งานให้คนรุ่นใหม่ในทันที
***ปรับปรุงดีไซน์ ให้ใช้ง่ายขึ้น
ส่งผลให้ไมโครซอฟท์ เดินหน้าปรับระบบปฏิบัติการครั้งใหญ่อย่าง Windows 11 ขึ้น เพื่อปลดล็อกรูปแบบการใช้งานให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การปรับปรุงดีไซน์ใหม่ ให้ดูสะอาดตา สดใส และใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือปรับปรุงให้รองรับการสั่งงานด้วยระบบสัมผัสจากนิ้วให้ง่ายขึ้น เพื่อรับกับรูปแบบการใช้งานพีซีที่มีหลายรูปแบบตั้งแต่คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปแบบตั้งโต๊ะ เครื่องออลอินวันที่รองรับการสัมผัสหน้าจอ โน้ตบุ๊กแบบ 2-1 ที่สามารถปรับเป็นแท็บเล็ตหน้าจอสัมผัสได้ เพื่อให้ประสบการณ์ใช้งานที่เกิดขึ้นลื่นไหล
การปรับเปลี่ยนหน้าตาของวินโดวส์ อย่างการย้ายปุ่มสตาร์ท (Start) มาอยู่ตรงแถบล่างบริเวณกึ่งกลางหน้าจอ ช่วยให้เข้าถึงโปรแกรม และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้สะดวกขึ้น และมีการดึงข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เชื่อมต่อกันผ่านระบบคลาวด์ การใช้งานจึงไร้รอยต่อระหว่างดีไวซ์ต่างๆ
พร้อมกับปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์บริเวณ Taskbar ให้สวยงาม และใช้งานง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณไอคอนที่ใช้ปรับตั้งค่า (Quick Setting) อย่างการเชื่อมต่อ เสียง และสถานะแบตเตอรี่ ให้ดูสะอาด และใช้งานง่ายขึ้น ด้วยการผสมผสานการทำงานกับโปรแกรมเล่นเพลง หรือสตรีมมิ่งต่างๆ ให้ควบคุมผ่านจุดนี้ได้ทันที
การเพิ่มวิตเจ็ต (Widgets) หรือหน้าต่างที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร ด้วยการนำ AI มาช่วยคัดเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้ใช้ ยังถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้นักพัฒนา และสำนักพิมพ์ต่างๆ เข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้นจากแถบนี้
ต่อมาคือ การปรับปรุงการทำงานของระบบปฏิบัติการ ให้รองรับกับการใช้งานแบบมัลติทาสกิ้ง หรือทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันมากขึ้น ด้วยการเพิ่มความสามารถในการจัดเรียงหน้าต่าง จากเดิมที่สามารถเปิดได้ 2 หน้าต่างแบ่งครึ่งหน้าจอใน Windows 10 ล่าสุดบน Windows 11 ได้ปรับเปลี่ยนเป็น Snap Layouts ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางได้ถึง 4 รูปแบบด้วยกัน
นอกจากนี้ เพื่อรับกับการทำงานบนหลายหน้าจอ ตัวเครื่องจะจดจำการจัดวางเลย์เอาต์ของหน้าจอเวลาที่มีการเชื่อมต่อกับจอได้ทันที และยังมีฟีเจอร์อย่าง Snap Group ที่จะคอยจำเวลาเปิดใช้งานแอปคู่กัน ให้เรียกใช้งานได้ทันที
ในแง่ของการสื่อสาร Microsoft ได้ผสานบริการแชต และวิดีโอคอลอย่าง Microsoft Teams เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Windows 11 เรียกได้ว่าเมื่อล็อกอินเข้าบัญชีใช้งาน ตัวเครื่องก็พร้อมให้ทำการสื่อสารกับครอบครัว และทำงานได้ทันที
***เปิดทางดึงผู้ใช้ Android มารันบน Windows 11
อีกความน่าสนใจที่เกิดขึ้นคือ การที่ไมโครซอฟท์ นำเทคโนโลยี Intel Bridge มาพัฒนา เปิดทางให้ผู้ใช้งาน Windows 11 สามารถติดตั้งใช้งานแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ โดยมีกำหนดจะเปิดใช้งานในช่วงปลายปีนี้ ผ่านการทำงานร่วมกับทาง Amazon Appstore
การเดินเกมเช่นนี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะในฝั่งของผู้ใช้งาน macOS หลังจากที่แอปเปิล เริ่มพัฒนาชิปประมวลผล Apple Silicon ขึ้นมาใช้งาน เริ่มด้วย Apple M1 ข้อจำกัดในการใช้งานแอปพลิเคชันของ iPadOS และ macOS เริ่มจางลงแล้ว เพราะปัจจุบันหลายๆ แอปของ iPadOS สามารถรันใช้งานบน macOS ในเครื่องที่ใช้งาน Apple M1 ได้แล้ว การเปิดทางให้ผู้ใช้ Windows 11 เข้าถึงแอปพลิเคชัน แอนดรอยด์ รวมถึงการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อระหว่างสมาร์ทโฟน แอนดรอยด์เข้ากับ Windows จะช่วยดึงลูกค้าในกลุ่มนี้กลับมาได้
นอกจากเปิดให้ดาวน์โหลดแอป แอนดรอยด์มาใช้งานแล้ว ไมโครซอฟท์ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมนักพัฒนาแอปไม่น้อย ด้วยการเปิดทางให้ผู้ผลิตแอปพลิเคชันที่มีระบบชำระเงินของตัวเอง สามารถให้บริการได้ผ่าน Microsoft Store โดยไม่คิดส่วนแบ่งรายได้ในการมาใช้งาน หรือในกรณีที่ไม่มีช่องทางชำระเงินก็สามารถใช้ Microsoft Store ได้ด้วยส่วนแบ่งรายได้ 85/15
ข้อได้เปรียบนี้ นอกจากช่วยให้นักพัฒนาได้รายได้จากการใช้ของผู้ใช้งานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ยังถือเป็นการประกาศสงครามกับแอปเปิล ที่ปิดกั้นไม่ให้นักพัฒนาใช้ช่องทางชำระเงินนอกเหนือจาก App Store ทำให้ต้องแบ่งรายได้สูงถึง 30% โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยในการติดตั้งแอปพลิเคชันใช้งานทำให้อีโคซิสเต็มมีความปลอดภัย
***ปรับรับเทคโนโลยีใหม่
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่แอปเปิลเท่านั้นที่เห็นความจำเป็นในการพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับสถาปัตยกรรมแบบอื่นนอกเหนือจาก x86 และ x64 ที่ทาง Intel และ AMD พัฒนาชิปเซ็ตอยู่ เพราะที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้เข้าไปร่วมมือกับ Qualcomm ปรับแต่ง Windows ให้รองรับการใช้งานบนสถาปัตยกรรม ARM มาแล้ว
ทำให้บน Windows 11 ถือเป็นการต่อยอดให้ระบบปฏิบัติการนี้สมบูรณ์ในการใช้งานบนสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันมากขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบันการพัฒนาชิปเซ็ตบน ARM นั้นเริ่มให้ประสิทธิภาพ และการประมวลผลในระยะสั้นๆ ดีกว่าสถาปัตยกรรมแบบเดิมๆ และยังประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่าไมโครซอฟท์ ได้เริ่มปูทางให้ Windows 11 รองรับการทำงานบน Surface ที่ใช้ ARM ได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ทิ้งฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของการทำงาน และการเล่นเกม ถึงกับเคลมว่า Windows 11 ถือเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเกมเมอร์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงให้ Windows 11 เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ อย่างเทคโนโลยีการแสดงผลที่พัฒนาขึ้น หน้าจอรองรับการปรับอัตราการแสดงผลได้ละเอียดมากขึ้น ไมโครซอฟท์จึงได้มีการปรับปรุงให้รองรับ Dynamic Refresh Rate ที่นอกจากจะเข้ามาช่วยให้การแสดงผลลื่นไหลขึ้นแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานให้เครื่องด้วย เนื่องจากเวลาใช้งานโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ไม่ต้องการ Refresh Rate สูงอย่างการท่องเว็บ ทำงานเอกสาร ตัวเครื่องก็จะปรับอัตราการแสดงผลให้เหมาะสม
ส่วนการปรับปรุงทางด้านประสบการณ์เล่นเกม Windows 11 ได้มีการเชื่อมต่อระบบเข้ากับ Xbox Cloud Gaming รวมถึง Xbox Game Pass เปิดทางให้ผู้ใช้ Windows 11 สามารถเข้าถึงเกมคุณภาพสูงที่เดิมเล่นได้เฉพาะบน Xbox ผ่านพีซีได้ทันที รวมถึงการพัฒนาด้านการแสดงผลให้สมจริงมากขึ้น อย่างการเปิด Auto HDR ในเกมที่รองรับแบบอัตโนมัติ ช่วยให้ภาพที่ได้สวยงามขึ้น
ในแง่ของความปลอดภัย ชิปเซ็ตประมวลผลในยุคหลังๆ เริ่มมีการใส่ชิปเซ็ตทางด้านความปลอดภัยอย่าง TPM (Trusted Platform Module) เข้ามาช่วยให้การประมวลผลของเครื่องมีการเข้ารหัสความปลอดภัย เมื่อ Windows 11 มีการเรียกใช้ชิปนี้ในการประมวลผลตั้งแต่ติดตั้ง จะช่วยให้ผู้ใช้โดนโจมตีจากผู้ไม่หวังดีได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows 10 จะไม่สามารถอัปเกรดไปติดตั้ง Windows 11 ได้ เนื่องจากขาดชิป TPM ที่ใช้เข้ารหัสข้อมูล ซึ่งถือเป็นทรัพยากรขั้นพื้นฐานที่ระบบปฏิบัติการต้องการ ซึ่งทางไมโครซอฟท์จะเปิดให้ผู้ใช้งาน Windows 10 พร้อมอัปเกรดความปลอดภัยต่อเนื่องไปถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2025
เบื้องต้น สเปกขั้นต่ำที่ไมโครซอฟท์ระบุว่าสามารถใช้งาน Windows 11 ได้ จะต้องใช้หน่วยประมวลผลเริ่มต้นที่ 1 GHz ซึ่งรองรับทั้งสถาปัตยกรรมแบบ 64 บิต และ SoC (System on Chip) ถัดมาคือ RAM ขั้นต่ำ 4 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 64 GB มีชิปความปลอดภัย TPM 2.0 หน้าจอขนาด 9” ความละเอียด HD ขึ้นไป
ดังนั้น ในกรณีที่ใครกำลังวางแผนจะซื้อพีซีเครื่องใหม่ในช่วงเวลานี้สามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที เพราะเครื่องทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในปัจจุบันรองรับการใช้งาน Windows 11 อยู่แล้ว โดยเห็นได้จากบรรดาแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ เริ่มนำเสนอออกมาแล้วว่า สามารถอัปเกรดเป็น Windows 11 ได้
***Windows 11 เปิดให้ทดลองใช้งานแล้ว
ในงานเปิดตัว Windows 11 ไมโครซอฟท์ ได้ประกาศให้นักพัฒนา หรือผู้ใช้งาน Windows 10 ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows 11 ให้เข้าร่วมทดสอบใช้งานได้ผ่านโครงการที่ชื่อว่า Windows Insider Program ที่สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ผ่านหน้าเว็บไซต์
โดยหลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จ สามารถล็อกอินบัญชีที่ใช้งานบนเครื่องที่รองรับ Windows 11 เข้าไปเปิดใช้งาน Windows Insider ในการตั้งค่าตัวเครื่อง เลือกเป็นโหมดนักพัฒนา ก็สามารถอัปเดตจาก Windows 10 ขึ้นไปเป็น Windows 11 เพื่อทดสอบใช้งานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชันทดสอบนี้ ทางไมโครซอฟท์ได้ระบุชัดเจนว่า ยังมีบางฟีเจอร์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ อย่างการใช้งานแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ รวมถึงในอนาคต เมื่อ Windows 11 เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ บางฟีเจอร์ที่มีอาจจะหายไป
โดยไมโครซอฟท์ ให้ข้อมูลว่า เพื่อให้ระบบปฏิบัติการ Windows 11 เป็นของผู้ใช้งานทุกคน จึงเปิดให้ผู้ใช้ได้ร่วมทดลอง และส่งความคิดเห็นเข้าไปให้ทีมพัฒนา เพื่อปรับเปลี่ยนฟีเจอร์การใช้งานให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่หน้าตา หรือฟีเจอร์ต่างๆ ของ Windows 11 ในเวลาที่เปิดตัวจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย
เบื้องต้น หลังจากได้เริ่มทดลองใช้งาน Windows 11 ก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่น่าใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะการรับคำสั่งจากการสัมผัสต่างๆ ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้น และเป็นทิศทางที่ดีของไมโครซอฟท์ในยุคที่โมบายดีไวซ์กลายเป็นศูนย์กลางของการใช้งาน