ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ Windows 11 โดยห่างจากการเปิดตัว Windows 10 ในวันที่ 29 ก.ค.2558 เกือบ 7 ปี โดยเน้นการปรับดีไซน์ใหม่ให้รองรับการสั่งงานด้วยระบบสัมผัสมากขึ้น เปิดทางให้นักพัฒนาได้รายได้จากการขายแอป 100% นำแอป Android มาใช้งาน
โดยไมโครซอฟท์ให้เหตุผลถึงการเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่นี้ว่า เกิดจากในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาของสถานการณ์โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของทุกๆ คน ก่อให้เกิดรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป
พานอส พาเนย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไมโครซอฟท์ ระบุว่า Windows 11 ทีพัฒนาขึ้นใหม่นี้จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนกว่า 1.3 พันล้านคนที่เชื่อมั่น และใช้งานวินโดวส์ในแบบที่คุ้นเคย
“Windows 11 จะเข้ามาช่วยให้การใช้งานเพื่อสร้างสรรค์ เรียนรู้ เล่น และการติดต่อสื่อสารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”
เร็วขึ้น ปลอดภัยสูง รองรับทุกการใช้งาน
จุดเด่นหลักที่ไมโครซอฟท์เลือกนำเสนอในการเปิดตัว Windows 11 คือ การปรับปรุงอินเตอร์เฟสการใช้งานใหม่ ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการกดปุ่ม Start มาเป็นการเข้าถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ง่ายขึ้นจากแถบเมนูตรงกึ่งกลางหน้าจอ
รวมถึงการผสมผสานจุดเด่นในการเชื่อมต่อของคลาวด์ (Cloud) และไมโครซอฟท์ 365 มาใช้ในการแสดงผลไฟล์ และงานล่าสุดที่เปิดใช้งานในทุกๆ แพลตฟอร์ม และดีไวซ์ ทำให้ผู้ใช้ทำงานได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ยังรองรับการทำงานแบบมัลติทาสกิ้ง (Multi-Tasking) ที่สะดวกขึ้น ด้วยระบบการจัดวางเลย์เอาต์รูปแบบใหม่ (Snap Layouts) การจัดกลุ่มใช้งาน (Snap Groups) จนถึงการจัดหน้าต่างโปรแกรมที่ใช้งานในแต่ละหน้าจอ ทำให้สามารถสลับสับเปลี่ยนการทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น
พร้อมกับการเพิ่มส่วนแสดงผลวิตเจ็ต (Widgets) เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร พยากรณ์อากาศ ตารางนัดหมาย ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และเปิดช่องทางให้นักพัฒนาสามารถคิดค้นวิตเจ็ตรูปแบบใหม่ๆ มาให้บริการได้
เช่นเดียวกับในแง่ของการสื่อสาร ไมโครซอฟท์ได้นำบริการ Microsoft Teams ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาเป็นอีกแท็บให้เข้าใช้งานได้ทันที ช่วยให้สามารถติดต่อกับผู้ใช้ Teams บนทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Windows Android หรือ iOS ได้เลย
ในส่วนของความปลอดภัย Windows 11 ถูกพัฒนาให้มีความปลอดภัยในระดับของระบบปฏิบัติการ จากการนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยฝั่งเข้าไปให้ใช้งานตั้งแต่แรกเริ่ม (Zero Trust-ready) ทำให้ช่วยปกป้องการใช้งานในทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกัน จากการปรับปรุงดีไซน์ของไอคอน และหน้าต่างการแสดงผลต่างๆ ทำให้รองรับการใช้งานผ่านการสัมผัสมากยิ่งขึ้น และเพิ่ม Haptic ให้เวลาใช้งานคู่กับปากกา ทำให้ได้ความรู้สึกสมจริงขึ้น
สำหรับด้านเกมมิ่ง ที่กลายเป็นจุดเด่นของ Windows ได้มีการปรับปรุงการประมวลผล และการแสดงผลสำหรับการเล่นเกมด้วยการนำ Auto HDR มาใช้ รวมถึงการนำเกมจาก Xbox มาให้ใช้งานบนคอมพิวเตอร์ด้วย
รองรับแอป Android-แบ่งรายได้นักพัฒนา
อีกความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในระบบปฏิบัติการ Windows 11 ช่วงปลายปีนี้ คือ การที่ไมโครซอฟท์ ได้เปิดให้นักพัฒนาสามารถนำแอปพลิเคชันจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มาให้ทำการค้นหาผ่าน Microsoft Store และส่งต่อไปให้ดาวน์โหลดผ่าน Amazon Appstore ที่เป็นพันธมิตรของไมโครซอฟท์ ทำให้ผู้ใช้งาน Windows 11 สามารถเข้าถึงแอปแอนดรอยด์ได้จากคอมพิวเตอร์ด้วย
ในส่วนของนักพัฒนาไมโครซอฟท์ได้ปรับรูปแบบการให้บริการบน Microsoft Store ใหม่ เปิดให้นักพัฒนาเลือกใช้ช่องทางชำระเงินของตัวเอง เพื่อให้รายได้ทั้ง 100% เข้านักพัฒนา หรือเลือกใช้ส่วนแบ่งการจำหน่ายบนสโตร์ที่สัดส่วน 85%-15% เช่นเดิม พร้อมกับเปิดช่องทางในการส่งแอปพลิเคชันขึ้น Microsoft Store ให้ง่ายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ระบุว่า Windows 11 ที่ได้เห็นในวันนี้ ถือเป็นเวอร์ชันทดลองที่เปิดให้ผู้ใช้งานได้ร่วมทดสอบและเปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุง ก่อนที่เวอร์ชันเต็มจะเปิดให้ใช้ผู้ใช้ Windows 10 อัปเกรดใช้งานได้ฟรีในช่วงปลายปีนี้ และในช่วงสัปดาห์หน้าจะเริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Windows Insider เพื่อทดสอบใช้งาน Windows 11 นี้