xs
xsm
sm
md
lg

Windows 10 ไม่ใช่วินโดวส์เวอร์ชันสุดท้าย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมโครซอฟท์บนเวทีเปิดตัว Windows 10 เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
เปิดสาเหตุที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) อาจเปลี่ยนใจหลังจากที่เคยแสดงจุดยืนว่าวินโดวส์ 10 (Windows 10) จะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันสุดท้าย ล่าสุด พบหลายเหตุผลที่ทำให้นักสังเกตการณ์บางรายคาดว่าไมโครซอฟท์จะแนะนำ Windows 11 สู่ตลาด กลายเป็นการอัปเดตหลัก หรือ major update แทนที่จะเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมบน Windows 10

ย้อนกลับไปในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ไมโครซอฟท์เตรียมเผยแพร่ระบบปฏิบัติการ Windows 10 สู่ตลาดโลก เวลานั้นมีข่าวชวนให้ประหลาดใจเพราะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พูดในเซสชันด้านเทคนิคระหว่างงานเปิดตัวของบริษัท ได้ระบุว่า “Windows 10 จะเป็น Windows เวอร์ชันสุดท้าย” แต่แล้วในต้นเดือนมิถุนายน 2021 ไมโครซอฟท์ก็ประกาศแผนจัดอีเวนต์ออนไลน์เพื่อเปิดตัว "Windows เจเนอเรชันต่อไป” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2021

6 ปีที่ไม่มี Windows 11 ไมโครซอฟท์สามารถเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าสูงอันดับ 2 ของโลก ซึ่งแม้จะกระจายธุรกิจไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ได้สำเร็จ แต่ Windows ยังคงมีความสำคัญต่อเอกลักษณ์ของบริษัท รวมถึงในแง่ของการเงินที่ยังทำรายได้ 14% ของรายได้รวม ขณะที่โลโก้บริษัทก็ยังคงเป็นรูปหน้าต่างหลากสี

เหตุผลแรกที่เป็นไปได้ซึ่งอาจทำให้วินโดวส์ใหม่เรียกว่า Windows 11 แทนที่จะเป็นเพียงการปรับปรุง Windows 10 ตามรอบ 2 ครั้งต่อปี คือผลดีที่จะเกิดกับธุรกิจ

ที่ผ่านมา Windows ใหม่ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้อัตราการเติบโตของรายได้ไมโครซอฟท์เพิ่มขึ้นทุกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ที่ซื้อพีซีพร้อมซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ที่ติดตั้งมาจากโรงงาน และในอดีต วินโดวส์สามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานได้สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกบริการของไมโครซอฟท์ ดังนั้น การกลับมาเปิดตัววินโดวส์เวอร์ชันใหม่จึงอาจจะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น

6 ปีที่มีแต่ Windows 10 ไมโครซอฟท์สามารถเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่าสูงอันดับ 2 ของโลก
เหตุผลที่ 2 คือ การเปลี่ยนแปลงของตลาดคอมพิวเตอร์พีซี วันนี้โควิด-19 ทำให้ผู้คนเร่งรีบซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานและเรียนที่บ้านจนส่งผลดีต่อผู้ผลิตพีซีและไมโครซอฟท์เพราะการจัดส่งพีซีในปี 2020 เติบโตเร็วกว่าทุกปีในทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น อัตราการเติบโตของรายได้จากลิขสิทธิ์วินโดวส์จึงเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ไมโครซอฟท์มองว่าตลาดพร้อมสำหรับการอัปเดตวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ที่ดึงดูดผู้คนให้ซื้อเครื่องใหม่ได้มากขึ้นอีก

อีกเหตุผลคือ ภัยคุกคามจากคู่แข่ง โดยเฉพาะกูเกิล (Google) ซึ่งสร้างโครมโอเอส (Chrome OS) จนทำให้ผู้คนต่างพากันซื้อแล็ปท็อป “โครมบุ๊ก" (Chromebook) ราคาประหยัดที่ใช้ระบบปฏิบัติการของกูเกิล แทนที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ หรือแมคโอเอสจากแอปเปิล (Apple macOS) แบบเดิม

ล่าสุด ข้อมูลของการ์ทเนอร์ พบว่า ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์มีการจัดส่ง Chromebook กว่า 11.7 ล้านเครื่องในปี 2020 แม้จะถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับการจัดส่งพีซีวินโดวส์จำนวน 79.4 ล้านเครื่อง แต่ Chromebook ก็เติบโตขึ้นถึง 200% เป็นสัญญาณอันตรายเพราะพีซีนั้นเติบโตขึ้นประมาณ 11% เท่านั้น

ความท้าทายที่ไมโครซอฟท์ต้องเผชิญไม่ได้อยู่ที่การดึงดูดผู้คนให้กลับมาจาก Chromebook เท่านั้น แต่ยังต้องสู้กับ Apple ที่โหมกำลังคุกคามอีโคซิสเต็มของ Windows อย่างจริงจัง เช่น การเปิดตัวคอมพิวเตอร์ Mac ที่ใช้ชิป Arm-based M1 ซึ่งมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่น่าประทับใจกว่าพีซีที่ใช้ชิปอินเทลบนระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ทำให้ผู้ผลิตพีซีรายอื่นต้องออกคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows 10 บนชิป Arm แม้จะยังพบปัญหาความเข้ากันได้ของซอฟต์แวร์อยู่

ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าไมโครซอฟท์จะมีสถานการณ์ดีขึ้นหากระบบของไมโครซอฟท์สามารถนำเสนอประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพของวินโดวส์ใหม่จะเพิ่มอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น และอาจส่งเสริมบริการอื่นของบริษัท เช่น Azure และ Office รวมถึง Surface พีซีของตัวเองที่อาจจะทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วย

สถิติพบว่าไมโครซอฟท์ทำรายได้จากเซอร์เฟส (Surface) เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2020 แต่ก็ยังห่างไกลจากการเติบโตที่เกิดใน Chromebook

ไม่แน่ วินโดวส์ใหม่อาจทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจแท็บเล็ต Surface Pro มากขึ้นด้วย นำไปสู่การยกระดับแบรนด์อีกขั้นหลังจากที่ Windows 10 เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น