กสิกรฯ ชี้เร้ดแฮท (Redhat) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างบริการดีขึ้น แนะองค์กรเดินหน้าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน รับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ด้านเร้ดแฮท เผย เทรนด์โอเพน ซอร์ส จะบูมยิ่งขึ้น เหตุสร้างบริการรวดเร็ว คุมต้นทุนได้
ตะวัน จิตรถเวช กรรมการผู้จัดการ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องดำเนินการ ยิ่งเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ยิ่งทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงใช้งานด้านดิจิทัลมากขึ้นจากเดิมเพียง 25-26% เป็น 75% ดังนั้น ในภาคธนาคารเองก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาบริการผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า อีกทั้งการใช้งานดิจิทัลของลูกค้านั้นทำให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของลูกค้าเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด
"การเลือกใช้คลาวด์ของธนาคารก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละบริการ เพราะเราไม่สามารถใช้บริการคลาวด์แบบ 24x7 ได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูง ดังนั้น ธนาคารเองจะมีไพรเวต คลาวด์ของตนเองด้วย"
สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน ความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อพนักงานตลอดจนลูกค้าเองไม่ต้องเดินทางมาทำงานที่สำนักงาน หรือลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาทำธุรกรรมการเงินที่สาขา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ให้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ ซึ่งธนาคารมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เช่น การยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าการพูดคุยกับเอไอด้วยภาษาไทย การพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ด และกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งปีที่ผ่านมาธนาคารมีบริการกว่า 250 บริการ
ดังนั้น สิ่งสำคัญในการสร้างบริการคือต้องสามารถสร้างได้เร็ว ปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการได้เร็ว เช่น การเปลี่ยนยูสเซอร์ อินเตอร์เฟส การเปลี่ยนปุ่ม หรือหน้าตาในการใช้งาน เป็นต้น ซึ่งธนาคารเลือกใช้บริการของเร้ดแฮท ทำให้การสร้างบริการเร็วขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลา 6 เดือน เหลือเพียงสัปดาห์เดียวในกรณีที่บริการไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
“สิ่งสำคัญในการเลือกใช้งานโอเพนซอร์ส คือ ต้องเลือกผู้ให้บริการที่มีคอมมูนิตีใหญ่ เวลามีปัญหาจะมีคนช่วยแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่า ”
ตะวัน กล่าวต่อว่า ความท้าทายของการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน คือ 1.เรื่องบุคลากร ซึ่งธนาคารต้องการหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน จึงมีการสร้างอะเคเดมี เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน 2.API ต้องมีมาตรฐานเดียวกันเพราะจากการเติบโตด้านการใช้งานดิจิทัลทำให้ทุกองค์กรต่างพัฒนาแอปพลิเคชันมาให้บริการที่หลากหลาย ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรต้องมีการหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานของ API ด้วย และ 3.ด้านความปลอดภัย เมื่อมีการใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้น ช่องโหว่ก็ตามมามากขึ้นเช่นกัน ยิ่งเป็นธนาคารยิ่งต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
สุพรรณี อำนาจมงคล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เร้ดแฮท (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อก่อนคนอาจมองว่าโอเพนซอร์ส คือของเล่นของโปรแกรมเมอร์ แต่เมื่อเวลาผ่านมาได้มีการพิสูจน์แล้วว่า โอเพนซอร์ส คือ ซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ที่อุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง โดยเฉพาะเมื่อ 5-6 ปีก่อน ธุรกิจใหญ่ทั้งไฟแนนซ์และโทรคมนาคมต่างใช้งานโอเพนซอร์ส ยิ่งเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 หากเลือกใช้งานโอเพนซอร์ส ก็จะยิ่งเป็นเทรนด์ที่จะบูมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีต้นทุนไม่สูง