xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส-ดีป้าคลอด 5 เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย เตรียมมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ รองรับการพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.ดีอีเอส นำประชุมนัดแรกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ พร้อมพิจารณาข้อเสนอแผนการพัฒนาเมือง ก่อนมีมติเห็นชอบ 5 เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทยที่จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ พร้อมสานต่อความร่วมมือกับเมืองที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาเมือง ตั้งเป้าประกาศเมืองอัจฉริยะปีนี้ไม่น้อยกว่า 7 เมือง


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายด้าน พร้อมด้วย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมพิจารณาข้อเสนอแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 5 เมืองที่จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์

นายณัฐพล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของดีป้า และในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ มุ่งผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่การทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดีป้าไม่เพียงบอกว่าเมืองอัจฉริยะเป็นอย่างไร แต่ต้องคอยทำงานคู่กับเจ้าของพื้นที่อย่างใกล้ชิด ปรับแนวคิดให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักมองความเป็นอยู่ปัจจุบันอย่างเข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ดีป้าทำงานอย่างหนักในการเดินสายทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในทุกภูมิภาค ซึ่งสิ่งที่ยากไม่ใช่การให้ประชาชนรู้จักกับเทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในบริบทของแต่ละเมืองให้แก่เจ้าเมือง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเมือง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมและตอบโจทย์กับเมืองมากที่สุด"

ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อนไปสู่เมืองอัจฉริยะนั้น นอกจากความเข้าใจในบริบทเมืองแล้ว ยังต้องมีความพร้อม โดยเมืองอัจฉริยะที่ได้ผ่านการพิจารณาและได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองที่ยื่นขอรับการพิจารณาเป็นเมืองอัจฉริยะเท่านั้น ซึ่งดีป้าจะสานต่อความร่วมมือกับแต่ละเมืองที่ยื่นเสนอแผนการพัฒนาเมือง โดยตั้งเป้าที่จะประกาศเมืองอัจฉริยะไม่น้อยกว่า 7 เมืองภายในปี 2564

สำหรับเมืองอัจฉริยะทั้ง 5 เมืองที่ผ่านการพิจารณาในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าสู่เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มุ่งหวังการเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 Smarts* ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด

2.ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อพัฒนาขอนแก่นสู่มหานครน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความยั่งยืน

3.แม่เมาะเมืองน่าอยู่ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 3 Smarts มุ่งเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ (Eco Town) เพื่อสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเริ่มต้น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่

4.สามย่านสมาร์ทซิตี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืน

5.เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ฐานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเมืองแห่งมาตรฐานคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับสากลของประเทศไทย บนพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง กับแผนพัฒนาทั้ง 7 Smarts


นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะถือเป็นการรองรับการพัฒนาประเทศและสร้างกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เติบโตอย่างสมดุล ตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เกิดการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมในทุกภูมิภาค ผ่านการออกแบบตามหลักการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการ และพัฒนาการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบถึงมติที่ประชุมในครั้งนี้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น