xs
xsm
sm
md
lg

‘สมชัย’ ชี้ 3 ฝ่ายต้องเป็นเอกภาพ ร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมชัย เลิศสุทธิวงค์
‘เอไอเอส’ รับโควิดระลอก 3 หนัก รัฐ เอกชนประชาชนต้องป็นเอกภาพถึงจะฝ่าวิกฤตนี้ได้ หากไม่จบหรือร้ายแรงกว่านี้เศรษฐกิจพังแน่ ชี้ระลอก 3  ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเกิดมาจากผับเหมือนระลอกแรก รัฐควรเรียนรู้ ใช้กฎหมายเข้มแข็งมากกว่านี้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

***โควิด-19 ระลอก 3 เรื่องใหญ่ รัฐควรเรียนรู้อย่าซ้ำรอยเดิม

‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า มิติของการระบาดโรคโควิด-19 ระลอก 3 นับเป็นเรื่องใหญ่มาก ความรู้สึกปีนี้อาจแตกต่างจากปีที่แล้วที่กังวลมากกว่าทั้งๆ ที่ตัวเลขปีที่แล้วน้อยกว่าปีนี้มาก ดังนั้น หากต้องการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไม่ใช่แค่เอไอเอส ซึ่งเราเคยเสนอแนวคิด 3 ฝ่ายจับมือกันอย่างเป็นเอกภาพทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อประเทศไทยให้ฟื้นฟูเพื่อต่อสู้กับภัยนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่การเตรียมความพร้อมและการต่อสู้

รัฐต้องต้องมีความพร้อมเรื่องวัคซีนเพราะวัคซีนคือคำตอบ ไม่ให้เกิดรอบที่ 4 หรือรอบที่ 5 เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีน 70% ของจำนวนประชากรตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ สิ่งที่รัฐทำคือการสั่งปิดหรือใช้มาตรการเยียวยานั้นต้องไม่ใช่การแจกเงินเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นคือมาตรการในระยะสั้นไม่ใช่มาตรการระยะยาว

ขณะที่เอกชนเองเข้าใจว่าต้องการต่อสู้ด้วยกันและพร้อมบริจาคเงินและช่วยเหลือกันอยู่แล้วแต่อยากให้ร่วมมือกันในการช่วยเหลือแทนการแข่งขันกัน เช่น ใครทำอะไรตรงไหนแล้วก็ไม่ต้องทำซ้ำซ้อนเพียงเพื่อสร้างแบรนด์ในการแข่งขันกัน เช่น เมื่อเอไอเอสประกาศว่าได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนามไปแล้วกี่แห่งที่ไหนบ้าง เอกชนที่เหลือก็ขอให้กระจายไปยังพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ไม่ต้องแข่งกันลงในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงต้องมีแนวคิด ‘ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก ไม่ใช่ปลาใหญ่ต้องกินปลาเล็ก’ หมายถึงรายใหญ่ต้องยอมให้รายเล็กเติบโต เอไอเอสเองก็จะพยายามช่วยเหลือด้วยการออกแพกเกจ  ต่างๆ ให้รายเล็กฟื้นตัวแต่เราช่วยฟรีด้วยการให้เงินเหมือนรัฐไม่ได้เพราะเอกชนมีต้นทุนมีการลงทุน

‘ระลอก 3 ไม่ใช่เรื่องใหม่ รอบแรกเกิดจากผับ ทำไมเกิดขึ้นอีก หากรัฐบาลใช้กฎหมายเข้มแข็งจริงๆ มันคงไม่เกิดขึ้นซ้ำ ถ้าเรายังไม่เห็นว่ามีความเข้มแข็งก็จะมีระลอก 4 กลับมาอีก เมื่อเรียนรู้แล้วและเกิดซ้ำเราผิดและไม่ป้องกัน ผมว่ามันผิดพลาดมาก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดแล้วไม่แก้ปัญหาจากฐานราก’ สมชัย ตั้งข้อสังเกต


ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ไม่ควรรอแต่ภาครัฐและเอกชนรายใหญ่มาช่วยอย่างเดียว เมื่อได้เงินเยียวยามาต้องประหยัดและเรียนรู้ว่าจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นก่อนต้องนำมาช่วยธุรกิจหลักของตนเองให้อยู่ได้ระยะยาว ซึ่งหวังว่าภายในไตรมาส 2 นี้หากวิกฤตนี้จบลงครึ่งหลังของปีนี้ประเทศไทยก็จะฟื้นฟูและเติบโตต่อไป

*** โควิด-19 กระทบแผนที่วางไว้ การเติบโตลดลง

‘สมชัย’ ฉายภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมว่าเมื่อโควิด-19 มา มีการเวิร์กฟอร์มโฮม (WFH) หรือการเรียนออนไลน์มากขึ้น พบว่ามีการใช้งานเพิ่มขึ้น 30% ทั้งโมบายและฟิกซ์ไลน์ แต่รายได้ไม่ได้เติบโต 30% ตามนั้นแม้อุตสาหกรรมนี้จะเป็นความจำเป็นในการใช้ชีวิตแต่มันขึ้นอยู่กับจีดีพีของประเทศ โดยปกติเอไอเอสจะดีกว่าจีดีพีแค่ 1-2% มันผูกพันกับภาวะเศรษฐกิจและรายได้โดยรวมของประเทศด้วย เราไม่ได้รวยหรือมีรายได้มหาศาลปีนี้คาดว่าจีดีพีโตแค่ 2-3% ดังนั้น เอไอเอสอาจจะโตแค่ 3-4% เท่านั้น จากปี 2563 ที่จีดีพีไทยติดลบ 6.1% และรายได้ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมติดลบ 4%

ขณะที่ในส่วนของบริษัทในปี 2564 คาดว่ารายได้จากการให้บริการหลักจะเติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ หรือประมาณ 2-5% จากปี 2563 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 โดยหากสถานการณ์ดังกล่าวจบลงในช่วงไตรมาส 2/2564 ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์รายได้ของบริษัท แต่หากสถานการณ์ลากยาวไปถึงช่วงครึ่งปีหลังซึ่งบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็ทำให้อาจจะมีการทบทวนการคาดการณ์รายได้ในปี 2564

***ใช้เทคโนโลยีฟื้นฟูประเทศ 4 มิติ

‘ผมมองว่าโควิด-19 ระลอกแรกสอนให้เรารู้จักเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมฝึกฝนขีดความสามารถใหม่ๆ สร้างรูปแบบการทำงานในโลกปกติใหม่ มีมุมมองแบบ Pro Active ส่งผลให้เราสามารถต่อสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทั้งในแง่การให้บริการลูกค้าและส่งมอบความช่วยเหลือ เคียงข้างคนไทย

อย่างกรณีวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2 ปลายปี 2563 ที่เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการสื่อสารรายแรกที่สามารถลงพื้นที่ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลสนามแห่งแรกที่ จ.สมุทรสาครได้สำเร็จ รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่สอนให้เราเข้าใจว่าเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิสคือหัวใจสำคัญต่อการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ ทำให้แม้วันนี้เราจะต้องเจอกับการระบาดครั้งใหญ่อีกครั้ง ชาวเอไอเอสก็สามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีเพราะผ่านกระบวนการทรานส์ฟอร์มทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รับมือกับโลกยุคโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่’


โดยที่โควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เอไอเอสได้ร่วมฟื้นฟูประเทศผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิสใน 4 มิติประกอบด้วย

มิติแรกโรงพยาบาลสนาม ด้วยการติดตั้งเครือข่าย AIS 5G, 4G, Free Wifi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียงทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การเชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวลมีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ

มิติที่สอง เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาลในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยที่ช่วยลดการสัมผัสและลดความแออัด โดยเบื้องต้น ได้ร่วมกับแอปพลิเคชัน ‘Me -More’ ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร

มิติที่สาม 5G AI อัจฉริยะ เดินหน้าร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลเครือข่ายคือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอดเข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วยเพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีนซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็วและ สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส และมีความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% ถือว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

นวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจโควิด-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และช่วยให้บุคลากรหลายคนสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสทางสาธารณสุขผ่าน 5G ได้อย่างชัดเจน


มิติที่สี่ อสม. ซึ่งเอไอเอสยังคงเสริมขีดความสามารถของ อสม.อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอสม. มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ช่วยในการรายงานการคัดกรองเฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยงและการสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมืองยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

‘เอไอเอสมีมาตรการรัดกุมขั้นสูงสุดในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อเนื่องในการให้บริการลูกค้าและดูแลสังคมไปพร้อมๆ กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้วันนี้พนักงานส่วนใหญ่จะทำงานแบบ WFH แต่สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเครือข่ายและลูกค้า ก็พร้อมอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อลูกค้าและคนไทย โดยผมขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ องค์กรใดที่มีกำลังก็สนับสนุนองค์กรเล็กหรือผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อให้มีพลังที่จะเดินหน้าต่อ โดยเชื่อมั่นว่าบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา หากเรานำมาใช้เพื่อเตรียมพร้อม ต่อสู้ ปรับตัวตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม หรือ รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนแน่นอน’

นอกจากนี้ ในวันที่กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในประเทศ เอไอเอสยังมอบโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมพรีเพดและแพกเกจโทร.ฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 50 เครื่องให้แก่ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เพื่อเสริมขีดความสามารถการทำงานของทีมงานและบุคลากรในการประสานงานไปยังโรงพยาบาลสนามต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร


กำลังโหลดความคิดเห็น