ในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างต่อเนื่องได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม และก่อให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากชนบทสู่เมือง ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นคงทางการเกษตร ความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาและรายได้ ความแตกต่างของแรงงานค่าจ้างระหว่างเขตชนบทและเมือง และความต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ
วิธาร ไชโย หรือ ‘หมา’ หนุ่มชาวจันทบุรีวัย 30 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานจากภูมิลำเนาในจังหวัดจันทบุรีมาสู่กรุงเทพฯ เพื่อไปร่ำเรียนในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี แต่เมื่อเขาทำงานที่บริษัทอีเวนต์แห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ได้ 2 ปี เขากลับรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับความเร่งรีบ รถติด และแออัดของกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน เขาคิดถึงท้องน้ำและแผ่นฟ้าอันเงียบสงบของชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จึงตัดสินใจเดินทางกลับจันทบุรีเพื่อไปเริ่มชีวิตบทใหม่ที่บ้านเกิด
จุดเริ่มต้นแห่งการเป็นผู้ประกอบการ
“ผมมีความรู้เรื่องวัตถุดิบอาหารทะเลอย่างลึกซึ้ง วัตถุดิบสดไม่สดดูยังไง เพราะผมออกเรือจับหมึกกับพ่อตั้งแต่เด็กๆ ก่อนนำปลาหมึกที่พ่อจับได้มาย่างขาย ซึ่งมีหลากหลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นปลาหมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกหอม หมึกสาย ซึ่งผมนำความรู้ความเชี่ยวชาญที่ผมมีมาเปิดเป็นร้านขายปลาหมึกย่างเล็กๆ แถววงเวียนปลาพะยูน บริเวณหาดเจ้าหลาว สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดบ้านเกิดผม” วิธารเล่าถึงที่มาที่ไปของเส้นทางแห่งการเป็นนายตัวเอง
จุดเด่นของร้าน ‘หมาขายหมึก’ คือวัตถุดิบที่สดใหม่ มีเรือและท่าเรือของตัวเองที่ห่างจากร้านของเขาไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร โดยการออกเรือครั้งหนึ่ง เรือรุ้งตะวันของพ่อเขาจะใช้เวลาประมาณ 5 วันต่อการออกเรือ 1 รอบ โดยของทะเลจะขึ้นทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นปลากระตัก ปลาจรง ปลาช่อนทะเล และที่ขาดไม่ได้คือปลาหมึก ซึ่งวิธารนั้นรับปลาหมึกทั้งหมดไปจำหน่ายที่ร้านของเขา
“เมื่อเรือขึ้นแล้ว ทีมงานจะนำของทะเลที่ได้มาแยกชนิด อย่างปลาหมึกก็จะมีการคัดไซส์ แบ่งเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ จากนั้นนำไปทำความสะอาด และทำตามกระบวนการต่อไป อย่างหมึกกระตอยก็จะนำไปตากแห้ง เช่นเดียวกับหมึกศอกขนาดใหญ่ที่นำไปจำหน่ายไหว้เจ้าตามธรรมเนียมของคนจีน บางส่วนก็จะนำไปแช่แข็งทันที เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานแต่ของสดและอร่อยเท่านั้น” เขากล่าว
นอกจากนี้ เขายังใช้เทคนิคการย่างทั้งตัว บั้งด้วยกรรไกร ตัดเป็นชิ้นพอดีคำ ส่วนไข่หมึกสดใช้วิธีการย่างแบบโบราณโดยการเอาใบตองมารอง วัตถุดิบทั้งหมดนั้นส่งตรงจากเรือ ไม่ผ่านการแช่น้ำยาใดๆ วิธารใช้เทคนิคชาวเลล้างทำความสะอาดหมึกสดด้วยน้ำเค็ม ทำให้หมึกคงรสชาติ ผนวกกับเทคนิคการย่างด้วยเตาถ่าน แบบใส่ใจตัวต่อตัว ทำให้สินค้าเป็นที่ถูกอกถูกใจคอปลาหมึกย่าง
ทำให้ดีต้องรู้ลึกรู้จริง
ในความเห็นของวิธารนั้น การจะทำสิ่งใดก็ตามต้องทำให้สุด เชี่ยวชาญไปเป็นอย่างๆ เขาจึงเลือกขายเฉพาะปลาหมึกย่าง ซึ่งของร้านหมาขายหมึกนั้นมีเอกลักษณ์คือรสชาติที่หอม สด กรอบแบบธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นคาว นอกจากความพิเศษของวัตถุดิบแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ น้ำจิ้ม หรือที่ชาวจันทบุรีเรียกกันว่า ‘พริกเกลือ’ อันเป็นสูตรเฉพาะตัวของทางร้านและทำสดวันต่อวัน ใช้พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็ก ปั่นด้วยรากผักชี ประโคมด้วยกระเทียมอย่างถึงเครื่อง ส่วนมะนาวต้องเป็นมะนาวเขียวที่แช่เย็น สดใหม่เท่านั้น
นอกจากปลาหมึกสดและปลาหมึกตากแห้งแล้ว วิธารยังได้พัฒนาสินค้าอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบด้วยการแปรรูปพร้อมทาน เช่น หมึกกระตอยต้มน้ำดำ และไข่หมึกย่างใบตองที่นำไปอุ่นพร้อมทานได้เลย
ออนไลน์เปิดโอกาส
ผู้ประกอบการชาวเลรายนี้เลือกที่จะแบ่งปันภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้ด้านอาหารทะเลผ่านเฟซบุ๊กเพจ ‘หมาขายหมึก’ อีกด้วย ซึ่งนอกจากผู้ชมจะเพลิดเพลินไปกับของทะเลนานาชนิดแล้ว ยังสามารถเลือกชอปของทะเลระหว่างการไลฟ์สด เพียงทิ้งคำสั่งซื้อไว้ที่ช่องคอมเมนต์ หรืออินบอกซ์ทางเฟซบุ๊ก เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ของจะถูกส่งตรงถึงหน้าบ้านของลูกค้าทั่วไทยภายในวันถัดไป โดยมีการแพกของอย่างดี รักษาความสดชนิดว่าเหมือนกินกันริมทะเลเลยทีเดียว
“หลายคนอาจสงสัยว่าของทะเลจะขายทางออนไลน์ได้จริงหรือ มันขายได้ เพียงแต่เราต้องเข้าใจและเชี่ยวชาญในสินค้าของเรา เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพตามที่เราต้องการได้” วิธาร อธิบาย
หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมอบรมกับทีมงาน ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ โดยช่วยตั้งชื่อร้านและชื่อเพจหมาขายหมึก พร้อมทั้งถ่ายคลิปวิดีโอร้านลงเพจเฟซบุ๊ก จนทุกวันนี้มียอดคนดูคลิปกว่า 3 ล้านวิว ทำให้ร้านของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของหาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี
“การมีตัวตนบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญมาก การมีความรู้เรื่องการขายออนไลน์ ทำให้มียอดขายที่ดีขึ้น คนรู้จักมากขึ้น ยิ่งขายไปเรื่อยๆ ก็มีลูกค้าประจำ และทำให้ธุรกิจอยู่ตัว ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องไปกระจุกตัวในเมืองเหมือนแต่ก่อน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าในชุมชน” เขาทิ้งท้าย