xs
xsm
sm
md
lg

การ์ทเนอร์เผยตลาดคลาวด์ไทยเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าทั่วโลก มูลค่ารวมกว่า 26,800 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การ์ทเนอร์เผยไทยใช้จ่ายด้านคลาวด์ปีนี้เติบโต 31.7% ด้วยมูลค่ากว่า 2.68 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.44 หมื่นล้านบาทภายในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตคลาวด์ทั่วโลกที่ราว 23.1% โดยมีมูลค่ารวม 3.323 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นายซิด นาณ รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ซีอีโอทั่วโลกเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลภายในองค์กรไปไว้บนระบบคลาวด์ และแสดงให้เห็นว่าแม้ไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด ความจำเป็นในการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

“เทคโนโลยีที่เกิดใหม่อย่าง Containerization, Virtualization และ Edge Computing จะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายและช่วยขับเคลื่อนมูลค่าการใช้จ่ายคลาวด์ให้เติบโตมากขึ้น หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การแพร่ระบาดกระตุ้นให้ซีอีโอหันมาใส่ใจบริการคลาวด์อย่างจริงจัง”


แม้มีความท้าทายด้านเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่การให้บริการคลาวด์สาธารณะกลับเติบโตอย่างมากโดยเฉพาะ Software as a Service (SaaS) ยังเป็นกลุ่มตลาดใหญ่ที่สุด คาดว่าในปี 2564 จะมีมูลค่าสูงถึง 1.226 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากความต้องการแอปพลิเคชันแบบผสมผสานนั้นต้องใช้ประสบการณ์ SaaS รูปแบบต่างๆ มาให้บริการ

ส่วนในปี 2564 ตลาด Infrastructure-as-a-Service (IaaS) และตลาด Desktop-as-a-Service (DaaS) จะเติบโตสูงสุดที่ 38.5% และ 67.7% ตามลำดับ เนื่องจากซีอีโอต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องในการปรับขนาดโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับปริมาณงานที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไปสู่ระบบคลาวด์ รวมถึงความต้องการของทีมงานในการทำงานแบบไฮบริด


สำหรับประเทศไทยการ์ทเนอร์คาดว่าการใช้จ่ายด้านคลาวด์ในประเทศไทยจะนำหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปีนี้มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะจะสูงราว 2.68 หมื่นล้านบาท เติบโต 31.7% จากปี 2563 และคาดว่าในปี 2565 จะมีเติบโตขึ้นเป็น 28.2% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.44 หมื่นล้านบาท

“สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการใช้งานและการนำระบบคลาวด์มาใช้ในองค์กรต่างๆ ในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่นั้นจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การใช้งานจะวิวัฒน์ไปอีกขั้นจากการให้บริการตามรูปแบบการใช้งาน เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานและการสับเปลี่ยนแอปพลิเคชันไปสู่การผสานรวมระบบคลาวด์เข้ากับเทคโนโลยีจำพวกปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (Internet of Things) เครือข่าย 5G และอื่นๆ”

นอกจากนี้ คลาวด์ยังทำหน้าที่ผสานเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่ซีอีโอต้องการใช้งานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อผลักดันให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ศตวรรษหน้าเมื่อผู้บริหารไอทีตระหนักถึงงานที่มีความซับซ้อนและงานในรูปแบบใหม่ๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการพลิกโฉมตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น