วันนี้ (2 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้กับบุคลากรอาชีวศึกษาในเขต EEC อบรมภาคทฤษฎีและปฏิบัติแบบเข้มข้นสำหรับนักเรียนระดับ ปวส. และครูผู้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมคคาทรอนิกส์ เทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ มุ่งสร้างหลักสูตร IIoT ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ที่เข้าร่วมโครงการ 16 สถาบัน ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีผู้ผ่านการฝึกฝนแบบเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 300 คน มีโรงงานและผู้ประกอบการ System Integrator ในเขตพื้นที่ EEC สนใจร่วมรับนักศึกษาในโครงการเข้าฝึกงานไม่น้อยกว่า 30 แห่ง
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงความสำคัญการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Workforce Development) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่สอดคล้องกับความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศ ส่งเสริมเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจในการเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นการทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะบุคลากรอุตสาหกรรมพร้อมส่งเสริมแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยภาครัฐ กับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างและพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมผ่านกลไก Train The Trainer เพื่อเป็น “ตัวคูณ” ในการนำความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาทักษะและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่อุตสาหกรรมในเขตพื้นที่
นอกจากนี้ สวทช. ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรระดับสูง เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของเอเชีย และเป็นแหล่งรวมของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยต่อยอดและเสริมความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
นางธัญรัตน์ อินทร ผู้ช่วยเลขาธิการด้านนโยบายและแผน สกพอ. กล่าวถึงทิศทางการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเน้น Demand Driven ที่ผ่านมา สกพอ. ได้ผลักดันการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของ ผู้ประกอบการและเทคโนโลยี ด้วยการฝึกอบรมระยะสั้นใน 3 รูปแบบ ได้แก่ Newskill, Reskill และUpskill ให้นักศึกษาอาชีวศึกษาได้มีโอกาส “เรียนฟรี มีงานทํา รายได้สูง” โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการภายใต้รูปแบบ EEC Model ในการพัฒนาหลักสูตร จัดฝึกอบรม คัดเลือกนักศึกษาเข้าไปฝึกงานจริงใน สถานประกอบการระหว่างเรียน สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดและที่พักระหว่างฝึกงาน และรับนักศึกษาเข้าทํางานโดยได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อสร้างความเชื่อและค่านิยมใหม่ที่มีต่อการเรียนสายอาชีวศึกษา ผลักดัน คนเก่งเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาเพื่อให้ “อาชีวะ สร้างคน สร้างชาติ” อย่างแท้จริง สกพอ. ให้การสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสำหรับดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษาใน เขต EEC เนื่องจากกำลังคนอาชีวะเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมถึง 70% สกพอ. มุ่งหวังว่าสถาบันอาชีวศึกษาจะนําองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการไปเพิ่มเติมในหลักสูตรเพื่อใช้ใน การเรียนการสอนต่อไป
ดร.ธวัชชัย อุ่ยพานิช ที่ปรึกษาด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา) กล่าวว่า “สอศ. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center) ที่วิทยาลัยเทคนิค บางแสน และได้ขยายศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เป็น 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด โดยรวบรวมข้อมูลทั้งอุปสงค์และอุปทานเพื่อที่จะวางแผนกำลังคนให้สอดรับกับความต้องการของสถานประกอบการ ในปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนสู่ศตวรรษที่ 21 ในเขตพื้นที่ EEC คือจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ผ่านศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาทักษะผู้เรียน ครูผู้สอนในสถานศึกษา และครูฝึกในสถานประกอบการ พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน พัฒนามาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมการมีงานทำร่วมกับสถานประกอบการ ทางศูนย์ฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นและได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT ของเนคเทค โดยคาดว่านักศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ผ่านการอบรมในโครงการจะมีทักษะสามารถติดตั้ง ใช้งาน ควบคุม และดูแลรักษาระบบที่เกี่ยวกับ IIoT ในสถานประกอบการหรือโรงงานในเขตพื้นที่ EEC เสริมสมรรถนะที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี”
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) กล่าวว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 หรือการพัฒนาโรงงานให้เป็น Smart Factory ต้องมี 3 ปัจจัยสนับสนุนคือเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนที่เชี่ยวชาญ เนคเทค สวทช. ได้เข้าไปมีบทบาทในทั้งสามปัจจัย คือ ในด้านเทคโนโลยี เนคเทค เป็นหน่วยงานวิจัยที่มีผล
งานวิจัยซึ่งถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้โดยตรง ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่มีอุปกรณ์และเครื่องจักรสมัยใหม่สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชั่นเพื่อช่วยยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในด้านกำลังคน การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้นสำหรับบุคลากรระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC นี้ได้รับ งบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัยด้วยหลักสูตรเรื่อง IoT และ IIoT ใช้แนวทาง ของ Demand Driven ของ สกพอ. ในการประสานความร่วมมือสามเส้าของเนคเทค วิทยาลัยอาชีวศึกษา 16 แห่ง และสถานประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดย เนคเทค จะพัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัยเพื่อนำไปบูรณาการกับหลักสูตรที่ใช้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ในปีแรก เนคเทคอบรมให้กับครูและนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละวิทยาลัย ในปีต่อๆ ไป จะเน้นการอบรมครูแบบ Train the Trainer และให้ครูไปสอนต่อในวิทยาลัย นักศึกษาที่ผ่านการอบรมจะถูกส่งไปฝึกงาน ในโรงงานต่าง ๆ เพื่อผลิตกำลังคนอาชีวะที่มีทักษะสูง สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการของกำลังคนอาชีวะในตลาดงานและนำไปสู่การยกระดับค่าตอบแทนของสายอาชีวะอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต”
การแข่งขัน IoT Hackathon 2021 Gen R เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน IIoT จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2564 ที่ระยองรีสอร์ท จ.ระยอง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาที่ผ่านการอบรมจากโครงการได้ฝึกฝนทักษะการประยุกต์ใช้ IoT ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นที่จะนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้เมื่อเข้าไปฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ โดยกิจกรรมนี้ได้รับความสนับสนุนจาก
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัททีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เข้าแข่งขันเป็น นักศึกอาชีวะ ในเขตพื้นที่ EEC ที่ผ่านการอบรมพื้นฐาน IoT จำนวน 70 คน 25 ทีม ร่วมแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล มูลค่า 70,000 บาท