xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายค่าคลื่น 700 MHz อิฐก้อนแรกปูเส้นทางหายนะ 'NT'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร
NT จ่ายค่าคลื่น 700 MHz งวดแรก พร้อมเดินหน้าต่อยอดพัฒนาธุรกิจ 5G คาดเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3 ผู้บริหารยังมั่นใจปิดดีลพันธมิตร ทรู-เอไอเอส จบ เม.ย.นี้ ด้านคนวงในชี้การจ่ายค่าคลื่น 700 MHz งวดแรกเหมือนการปูทางสู่หายนะ ด้วยต้นทุนความถี่ที่สูงกว่าชาวบ้านเท่าตัว ทำไปมีแต่เจ๊ง ความหวังอยู่ที่ประธานบอร์ด NT จะหาทางรอดจากวิบากกรรมครั้งนี้เช่นไร

นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางมาชำระเงินค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตามที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ793-803 MHz ด้วยราคาการประมูลสูงสุด 34,306 ล้านบาท วันนี้ NT ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ดังกล่าวในงวดที่ 1 คิดเป็นอัตรา 10% ของราคาการประมูลสูงสุด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดที่ 2-10 รวมมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการเข้าร่วมประมูลของ กสท โทรคมนาคม ก่อนการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในทุกภาคส่วน

สำหรับการดำเนินงานภายหลังจากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นั้น NT ได้เดินหน้าขยายตลาดไร้สาย 5G เพื่อให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถต่อยอดการพัฒนา 5G ของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถรองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ในด้านต่างๆ โดยจะดำเนินการทั้งในด้านการจัดสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศสำหรับลูกค้าปัจจุบัน การเพิ่มลูกค้ารายย่อย การบริการขายส่ง MVNO ตลอดจนการให้บริการด้าน Digital Service ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดสร้างและใช้โครงข่าย 5G ร่วมกันและลดการลงทุนซ้ำซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำตลาดบริการ my และบริการ Digital Solution รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 5G ของ NT ในหลากหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชัน 5G การสร้างระบบดิจิทัลของภาครัฐ และการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลตามแนวทางของ EEC เป็นต้น

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรในการทำธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อหาข้อสรุปในการทำงานร่วมกันที่ลงตัวมากที่สุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน เม.ย.นี้ และจะสามารถดำเนินการให้บริการ 5G ได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งแต่เดิมมีแผนลงทุนขยายสถานีฐานคลื่น 700 MHz ให้ได้ 13,000 สถานีฐานภายใน 3 ปี ด้วยงบประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่หากบริษัทสามารถประหยัดการลงทุนเองได้ด้วยการหาพันธมิตรก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนได้

'คลื่น 700 MHz เป็นคลื่นจำเป็นที่เราต้องมี เพราะในปี 2568 คลื่นเราจะหมด บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องมีคลื่นเป็นของตนเอง และเราก็เป็นเพียงผู้ให้บริการรายเดียวที่เปิดโอกาสให้ MVNO สามารถมาร่วมทำธุรกิจกับเราได้ และก็มี MVNO ทั้งรายเก่าและใหม่สนใจแล้วหลายราย'

*** เส้นทางหายนะ NT


แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การจ่ายค่าคลื่น 700 MHz งวดแรกให้ กสทช. เท่ากับบอร์ด NT อนุมัติให้เดินหน้าโครงการ 5G ความถี่ 700 MHz ซึ่งเรียกได้ว่าบอร์ดอนุมัติให้วางอิฐก้อนแรกของเส้นทางที่จะพา NT ลงเหวพบหายนะ อย่างชนิดที่เรียกว่ารู้เท่าถึงการณ์ แต่ไม่หาทางแก้ไข

'ต้นทุนค่าคลื่น 700 MHz ที่โอเปอเรเตอร์ 3 ค่ายได้ไปประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อความถี่จำนวน 10 MHz เป็นข้อมูลสาธารณะที่ใครๆ ก็รู้ แต่ของ CAT เดิมหรือ NT ปัจจุบันที่ประมูลได้มา 34,000 ล้านบาทต่อจำนวนความถี่ 10 MHz เท่ากันแต่ราคากลับสูงกว่าเท่าตัว เมื่อดูจากฐานลูกค้าปัจจุบันเทียบกันระหว่าง 3 โอเปอเรเตอร์หลักกับ CAT เดิมหรือ NT ปัจจุบัน ก็รู้อยู่แล้วว่าจะเอาปัญญาอะไรไปแข่งกับเอกชน หรือจริงๆ มีเป้าหมายอื่นซ่อนเร้นที่ตามมา'

สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าคือ CAT เดิมหรือ NT ปัจจุบันต้องหาพาร์ตเนอร์ เพราะเงิน 50,000 ล้านบาทที่คุยโตโอ้อวดไว้ว่าเอามาลงทุน 5G มันเห็นได้ชัดๆ ว่าไม่พอยาไส้แล้ว หวยจึงมาออกที่โอเปอเรเตอร์รายหลัก 2 รายอย่างทรูกับเอไอเอส ที่เสนอเงื่อนไข ที่หลับตาฟังก็รู้ว่าหากแผนเดิมที่คิดจะเลือกรายเดียวย่อมหนีไม่พ้นข้อครหา รัฐไปประมูลความถี่มาแพงๆ เพื่อเอามาเอื้อประโยชน์เอกชน เพราะข้อเสนอที่จะให้ CAT เดิมหรือ NT ปัจจุบัน คือ เอาเงินมาให้เอกชนทันที 20,000 ล้านบาทแลกกับการเช่าใช้เครือข่ายและอุปกรณ์บางส่วนจากเครือข่ายของเอกชน ซึ่งหลังจากความแตก ก็ต้องแบ่งเช่าจากเอกชน 2 รายๆ ละ 50% และทยอยจ่าย 3 ปี ซึ่งไม่มีเงื่อนไขที่เอกชนจะซื้อความจุของเครือข่าย 5G ที่ CAT เดิมหรือ NT ปัจจุบัน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ตอบกลับมาบ้าง เพราะคิดราคากันไม่ถูกและไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากต้นทุนความถี่แตกต่างกันมาก

'ความถี่เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจก็จริง แต่ต้องดูเรื่องราคาประกอบกันด้วย ที่ผ่านมาต้นทุนความถี่ 700 MHz รับรู้กันในวงกว้างแล้ว แต่เข้าใจว่าตอนที่บอร์ด CAT อนุมัติให้เข้าประมูล จิ้งจกแถวนั้นคงคาบไปบอกว่า CAT จะสู้ถึงไหน ตอนประมูลถึงโดนเอกชนพาขึ้นดอยแล้วปล่อยให้เปล่าเปลี่ยวอยู่บนนั้น'

ความน่าสนใจของความถี่ 700 MHz ของ NT คือจะเดินหน้าอย่างไร ในเมื่อเห็นหายนะรออยู่ข้างหน้า การจะทิ้งไลเซนต์ความถี่ 700 MHz เพื่อให้เสียหายน้อยที่สุด แล้วนำเงินที่เหลือไปซื้อหุ้นโอเปอเรเตอร์บางรายแลกกับส่วนแบ่งตลาดและโอกาสทางธุรกิจ น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะเงื่อนไขของ กสทช.ดุเดือดและรุนแรงมากทั้งแบล็กลิสต์ ยึดใบอนุญาต เพราะ กสทช.มีประวัติศาสตร์ที่ชอกช้ำเมื่อไม่นานมานี้ แต่ที่สำคัญคือบอร์ด NT คนไหนจะกล้ายืดออกเปล่งเสียงวาจาให้ทิ้งใบอนุญาตออกมาได้

ทั้งนี้ บอร์ด NT ที่ต้องเผชิญวิบากกรรมความถี่ 700 MHz มี หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธานบอร์ด ส่วนกรรมการที่เหลือประกอบด้วย นายอำนวย ปรีมนวงศ์ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ นายจำเริญ โพธิยอด และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ โดยรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วย

'หากจะหาเจ้าภาพสักคนสองคนในเรื่องนี้น่าจะไม่พ้น พ.อ.สรรพชัย กับนายอำนวย เพราะทั้งคู่เป็นบอร์ด CAT ซึ่งน่าจะรู้ตื้นลึกหนาบางดีที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อยู่ที่ว่าจะกล้าพูดรึเปล่า'

คำถามที่ควรจะต้องหาคำตอบเกี่ยวกับความถี่ 700 MHz คือ 1.ใครเป็นคนตัดสินใจเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการหรือ Feasibility Study ถึงแม้ CAT จะใช้ที่ปรึกษาบริษัท แวลลู พาร์ตเนอร์ แนะนำราคาประมูล รูปแบบการลงทุนไม่ว่าจะลงทุนเองหรือหาพาร์ตเนอร์ พร้อมทั้งฝันที่จะมีลูกค้า 6 ล้านรายใน 10 ปี แต่การตัดสินใจชงเรื่องเข้าบอร์ด ก็เป็นอำนาจของผู้บริหาร 2.บอร์ด CAT ที่ตัดสินใจและอนุมัติให้เข้าประมูล ปัจจุบันนั่งในบอร์ด NT 2 คน น่าจะตอบปัญหานี้ได้ 3.ผู้บริหารที่เข้าประมูลเคาะราคากันสนุกมือ 20 ครั้งประกอบด้วยใครบ้าง น่าจะร่วมรับผิดชอบด้วยไม่มากก็น้อย และ 4.สรุปสุดท้าย ประธานบอร์ด NT 'ท่านปืน' ที่อนุมัติให้ NT จ่ายค่าความถี่ 700 MHz เพราะเท่ากับเป็นการวางอิฐก้อนแรกของเส้นทางหายนะ ท่านมีแผนแก้ปัญหาเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะการเป็นเซียนการเงิน ดูจากตัวเลข แผนการต่างๆ ที่ชงเข้าบอร์ดก็น่าจะรู้ว่าอะไรรออยู่เบื้องหน้า

'บอร์ด NT จะประชุมช่วงบ่ายวันที่ 17 มี.ค.นี้ ตัวละครอยู่ครบถ้วนหมด จะจัดการปัญหานี้อย่างไร เทียบง่ายๆ บ้านฉางกำลังปักธงเป็นสมาร์ท ซิตี 5G ของจริงที่แรกในประเทศไทยและที่แรกในอาเซียน บนความถี่ 26 GHz ที่ทีโอทีประมูลได้มา มีเส้นทางที่ดูสดใส แต่ความถี่ 700 MHz ของ CAT ดูมืดมนต่างกันราวฟ้ากับเหว การควบรวมเป็น NT ที่พนักงาน CAT ยืดอกว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะผลประกอบการกำไร พนักงานได้โบนัส 4-5 เดือน จากเล่ห์เหลี่ยมการบันทึกบัญชี ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดแล้วเพราะมีหลายเรื่องที่กำลังรอเช็กบิล เป็นชะตากรรมที่หนีไม่พ้น นอกจากเรื่องความถี่ 700 MHz ยังมีเรื่องค่าปรับอีก 5 พันกว่าล้านที่เคยตีเช็คเปล่าเช่าเคเบิล ฝีมือผู้บริหารที่ตามมาหลอกหลอนหลังควบรวม เห็นท่า รมว.ดีอีเอส คนใหม่คงต้องเตรียมเครื่องดูดฝุ่นพลังสูงเอามาดูดฝุ่นดูดขยะที่ซุกใต้พรม'


กำลังโหลดความคิดเห็น