ทีมโค้ชดีแทค เน็ตทำกิน พร้อมจัดอบรมให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการรวม 150 ร้านค้า จากจำนวนร้านค้าที่แสดงความสนใจกว่า 1,500 ร้านค้าทั่วประเทศ ตลอดช่วงเดือนมีนาคม พร้อมติดตามผลและเป็นพี่เลี้ยงไปจนกว่าร้านค้าจะประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายบนออนไลน์ได้
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน ธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง เพื่อจับตลาดผู้บริโภคออนไลน์ ทั้งยังเป็นการขยายโอกาสโดยปราศจากข้อจำกัดเดิมๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดแรงงานจำเป็นต้องพัฒนาและเปลี่ยนผ่านให้สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจในอนาคตหลังยุคโควิด-19
จากข้อมูลการรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดีแทคเน็ตทำกิน พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับ “วิกฤตทักษะดิจิทัล” ประชากรไทยมีความเหลื่อมล้ำเชิงทักษะดิจิทัลอย่างมาก ทั้งด้านของวัยและพื้นที่ที่อาศัยอยู่ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการขาดความรู้ ในการเข้าถึงตลาดออนไลน์
โควิด-19 เผยชัด “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล”
นายชารัด กล่าวว่า จากผลการเปิดรับสมัครโครงการดีแทคเน็ตทำกินไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า มีผู้ให้ความสนใจสมัครท่วมท้นกว่า 1,500 คน โดยส่วนใหญ่มีความต้องการเรียนรู้เพิ่มยอดขายทางออนไลน์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างหนัก ยอดขายหดตัวลงไปมาก
25% ของผู้สมัครเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ต้องการใช้ทักษะที่มีอยู่ในการหารายได้เพิ่มเติมจากการเกษียณอายุงานก่อนกำหนดหรือต้องการเริ่มอาชีพใหม่หลังจากได้รับผลกระทบเลิกจ้างกะทันหันจากพิษโควิด-19 ทั้งนี้ ทักษะส่วนใหญ่ยังคงเป็นทักษะการผลิตสินค้าอาหาร เบเกอรี และขนบขบเคี้ยว ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ สินค้าทางการเกษตร สังฆภัณฑ์และพระเครื่อง เสื้อผ้าและเครื่องประดับ
33% ของผู้สมัครอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามด้วยภาคเหนือที่ 16.7% ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีอัตราส่วนใกล้เคียงกันที่ 12% นอกจากนี้ กว่า 21% ของผู้เข้าสมัครมีอายุมากกว่า 50 ปี โดยมีความต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลและเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์
43% ของผู้สมัครมีการเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่ขาดความรู้เพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ 7.6% มีจำนวนแฟนเพจและบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพแล้ว แต่ยังต้องการเรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครเพียง 35.3% เท่านั้น ที่มีผลิตภัณฑ์และสินค้าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีแหล่งวัตถุดิบพื้นฐานในท้องถิ่น และมีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์บนช่องทางออนไลน์
เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้สมัครราว 10% เป็นชนพื้นเมืองที่ต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสืบทอดจากภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนสานต่อภูมิปัญญางานฝีมือของชนพื้นเมือง สร้างตัวตนและผูกความสัมพันธ์กับตลาดออนไลน์
“ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ขณะเดียวกัน ประชากรไทยทุกภาคส่วนล้วนมีความต้องการในการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองและผู้ที่อาศัยตามชายขอบของกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเห็นได้ว่า การเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนสืบไป”