ต้นไม้พิษ ย่อมออกดอกออกผลไม้พิษฉันใด กรรมการสรรหาที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม ขายจิตวิญญาณ ขายวิชาชีพ ย่อมเลือกบุคคลที่ถูกล็อกผลมาเป็น กสทช.ที่บิดเบี้ยว โดยมิได้มองถึงเป้าหมายสูงสุดเพื่อหาคนมาช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศชาติในโลกยุคปัจจุบันฉันนั้น
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า การที่ว่าที่ กสทช.ทั้ง 14 คนที่ได้รับการสรรหาจะสิ้นสภาพไปหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 หรือกฎหมาย กสทช.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยในสาระสำคัญของกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ กำหนดให้คณะกรรมการ กสทช.มี 7 คน ประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านละ 1 คน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้านละ 1 คน และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. 2 คน ต่างกับกฎหมายฉบับเดิมที่กำหนดให้มีด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครปรับใหม่เป็นนายทหารหรือนายตำรวจยศตั้งแต่พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี พลตำรวจตรีขึ้นไป ต่างจากของเก่าที่ให้นายทหารตำรวจยศพันเอกสมัครได้โดยที่การคัดเลือกกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้สมัครในแต่ละด้าน 7 คน ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 แล้วส่งรายชื่อผลคะแนนและบันทึกเหตุผลในการเลือกส่งให้วุฒิสภาโหวต โดยผู้ที่จะเป็น กสทช.ชุดใหม่นี้ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาภายใน 15 วัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระบวนการสำคัญเริ่มขึ้นตรงนี้ เพราะหลังการสรรหา กสทช.ล้มเหลวมา 2 ครั้งจากต้นไม้พิษ ครั้งนี้ประเทศชาติจะได้ผลไม้ดีสุกงอมหอมหวานต่างจากครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะตามขั้นตอนจากนี้จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กสทช. 7 คนมาจากตัวแทนของ 7 หน่วยงานได้แก่ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
หากย้อนอดีตใกล้ๆ รายชื่อกรรมการสรรหา กสทช. ชุดก่อนหน้านี้ 7 คน ประกอบด้วย
1.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา
2.พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นรองประธานสรรหา
3.นายธงชัย เสนามนตรี ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา เป็นกรรมการสรรหา
4.นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นกรรมการสรรหา
5.นายวีระยุทธ ปั้นน่วม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการสรรหา
6.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการสรรหา
7.นายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นเลขานุการและโฆษก กรรมการสรรหา
‘จากรายชื่อกรรมการสรรหาพบว่ามี 2 คนคือพล.อ.วิทวัส กับนายวิษณุ ที่เคยเป็นกรรมการสรรหามาก่อนถึง 2 ครั้ง แต่ถูกเททั้ง 2 ครั้งเพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร’
***ข้อบกพร่องต้นไม้พิษ
หากวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องในการทำงานของคณะกรรมการสรรหาที่น่าสงสัยมากมี 3-4 ประเด็นที่สำคัญคือ 1.มีการออกกฎเกณฑ์หรือระเบียบของตัวเองที่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เกิดการขัดแย้งกับคุณสมบัติที่ระบุไว้ในกฎหมาย กสทช. 2.ไม่ดำเนินการตามกระบวนการตามที่กฎหมายระบุไว้ เช่น ไม่มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเงื่อนไขด้านคุณสมบัติ หรือไม่มีการประกาศคนที่ตกด้านคุณสมบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งชี้แจง 3.ในวันที่ให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ ควรให้เป็นการแสดงวิสัยทัศน์อย่างเดียว ไม่ใช่การซักถามเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ที่ถูกเอามาเป็นเหตุผลบังหน้า เพื่อเขี่ยให้พ้นทาง 4.มีการสอบถามเรื่องคุณสมบัติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน กสทช., ป.ป.ช., สตง., ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ปรากฏว่าไม่สนใจที่จะนำผลมาใช้เพื่อประกาศใครมีคุณสมบัติต้องห้ามเพราะมีเวลาตั้ง 28 ต.ค.63 ถึง 10 ม.ค.64 ผลการตรวจสอบกลับมายังคณะกรรมการสรรหาหมดแล้ว แต่กลับปล่อยให้ผ่านเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์หมดทุกคน
‘เรื่องนี้ไปถามผู้สมัครที่เข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ได้เลยว่าถูกซักถามอย่างไร เพราะดูออกว่าเป็นคำถามประเภทเขี่ยให้พ้นทาง หรือ คำถามที่ชงให้ตอบแบบหวานจนเลี่ยน รวมทั้งยังมีประเภทเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ป.ป.ช.มักถูกอ้างเป็นเหตุเตะตัดขาผู้สมัคร ซึ่งเรื่องร้องเรียนเป็นสิ่งปกติอยู่แล้วเพราะอาจเป็นเรื่องกลั่นแกล้งกันได้ แต่ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดก็ถือว่าตกคุณสมบัติ แต่ถ้าเป็นแค่ร้องเรียนก็ต้องถือว่าอยู่ในกระบวนการเท่านั้น’
***ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ กสทช.
มี 2 เหตุการณ์สำคัญระหว่างกฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 กับการล้มการสรรหาผลไม้พิษว่าที่ กสทช. 14 คน
8 ก.พ. - รายชื่อ 14 ว่าที่ กสทช.เข้าสู่การประชุมวุฒิสภาซึ่งเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมผู้ที่จะมาเป็น กสทช. โดยมี พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เป็นประธานโดยคณะกรรมาธิการขอเวลาตรวจสอบ 15 วัน ก่อนยื่นผลการตรวจสอบให้วุฒิสภาในวันที่ 23 ก.พ.
15 ก.พ. - ที่ประชุมวุฒิสภา ได้นำร่างกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาโดยมี ส.ว.ทั้งสิ้น 213 เสียง ผลการประชุม ส.ว.ลงมติเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
16 ก.พ. - ประธานวุฒิสภาทำหนังสือแจ้งชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาว่ากฎหมาย กสทช.ได้ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว
17 ก.พ. - พล.อ.ทวีป ยื่นหนังสือไปยังประธานวุฒิสภา ขอขยายระยะเวลาตรวจสอบอีก 8 วันเพราะตรวจสอบไม่ทันเพราะมีเอกสารร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้ผ่านกระบวนการสรรหา กสทช. เป็นจำนวนมาก
19 ก.พ. - ‘ปกรณ์ อุดมพิพฒน์กุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็นการสรรหา กสทช.ที่ผูกปมมีการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางราย
22 ก.พ. - ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ พล.อ.ทวีป ที่ขอขยายระยะเวลาตรวจสอบออกไปอีก 8 วัน ในประเด็นมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการล้มการสรรหา กสทช.หรือไม่ เพราะการขยายเวลาออกไปอีก 8 วันเท่ากับจะสิ้นสุดในวันที่ 3 มี.ค. แต่วุฒิสภาปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ. หมายถึงในช่วง 2 เดือนเศษๆ จะไม่มีการลงมติเลือกบอร์ด กสทช. เพราะวุฒิสภาจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค.
22 ก.พ. - นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภานำส่งร่างกฎหมาย กสทช.ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
27 ก.พ. - นายกรัฐมนตรียื่นทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมาย กสทช.
28 ก.พ. - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ กฎหมาย กสทช.
1 มี.ค. - มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ 2 มี.ค.
‘ที่ผ่านมา ใครรับอะไรไปแล้วก็แล้วกันไป ไม่ต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ไทม์ไลน์ของกฎหมายใหม่ กสทช. กับการล้มการสรรหาที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา น่าจะเปิดหูเปิดตา ให้การเลือกกรรมการสรรหาครั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มบุคคลพวกพ้องตัวเองเท่านั้น’