โครงการบริษัทร่วมทุน 'อินเว้นท์' ในเครือ 'อินทัช โฮลดิ้งส์' เพิ่งประกาศ 2 นโยบายลงทุนหลักที่เตรียมไว้สำหรับปี 64 ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่นโยบายแรกอย่างการลงทุนร่วมสร้างธุรกิจ (Venture Builder) กับบริษัทเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัปไทยและเทศเท่านั้น แต่อยู่ที่นโยบายที่ 2 อย่างการเตรียมเทเงินผ่านกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital ต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ 5G
พูดง่ายๆ คือ อินทัชกำลังไม่รอ และพร้อมควักกระเป๋าลงเงินในกองทุนต่างประเทศ กระจายพอร์ตด้วยการขยายวงไปสู่สตาร์ทอัปที่อยู่นอกอาเซียนเป็นปีแรก การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าสตาร์ทอัปไทยไม่เซ็กซี่ แต่ปัญหาคือ สตาร์ทอัปสัญชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับ 5G วันนี้มีน้อยเหลือเกิน
อินเว้นท์มั่นใจว่าการลงทุน 2 ขานี้จะพาอินทัชทำกำไรมากขึ้นบนเม็ดเงินลงทุนสัดส่วนเดิม เบื้องต้นไม่สนใจลงทุนในเงินคริปโตที่กำลังเป็นกระแส เพราะบริษัทโฟกัสทุกการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักในเครืออย่างเอไอเอส หรือไทยคมเท่านั้น
***ผ่าตัดตัวเอง
อินทัช โฮลดิ้งส์ หรืออินทัช นั้นเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ของไทยที่ลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี ผลประกอบการปี 63 มีกำไรสุทธิ 11,048 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 ที่เคยทำได้ 11,083 ล้านบาท
สำหรับโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัทเน้นลงทุนในสตาร์ทอัปที่เป็นธุรกิจเกิดใหม่และสอดคล้องไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัลรวม 6 โครงการในปี 63 คิดเป็นเงินรวม 252 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20% จากปี 62 เบ็ดเสร็จแล้วตลอดระยะเวลา 9 ปี บริษัทลงทุนในสตาร์ทอัปทั้งหมด 26 ราย มีมูลค่าพอร์ตการลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท
การเติบโตนี้มาจากการลงทุนใหม่และการขายหุ้นที่ลงทุนไป (exit) การขายหุ้นที่ทำให้อินเว้นท์ได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำคือบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด และบริษัท โซเชียล เนชั่น ปัจจุบัน อินทัชตัดสินใจขายหุ้นที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 7 สตาร์ทอัป ตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยรวม 29%
ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุนและพัฒนาธุรกิจ และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากสตาร์ทอัปกลุ่มดิจิทัลไลฟ์ที่บริษัทลงทุนไปแล้ว ทั้งสตาร์ทอัปแผงหนังสือออนไลน์ ธุรกิจประกันภัยดิจิทัล และบริการเงินกู้สินเชื่อรายย่อย ปีนี้บริษัทยังคงมองหาสตาร์ทอัปดาวรุ่งต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซ เฮลท์เทคหรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเอ็ดเทคหรือเทคโนโลยีด้านการศึกษา
เป้าหมายของการลงทุนเหล่านี้คือการช่วยให้สตาร์ทอัปสามารถ 'รัน' หรือดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์กับสังคม ขณะเดียวกัน ก็เปิดตลาดใหม่ และเพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่และหารายได้ดีขึ้นในธุรกิจใหม่ สำหรับสถานการณ์โควิด-19 อินเว้นท์ต้องปรับวิธีการช่วยเหลือสตาร์ทอัปใน 3 ด้าน ได้แก่ การเชื่อมต่อให้สตาร์ทอัปที่ตัวเองเข้าไปลงทุนสามารถต่อติดกับลูกค้าได้ดีขึ้น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในช่วงเริ่มดำเนินธุรกิจ เช่น ด้านบัญชีการเงิน หรือกฎหมาย และด้านที่ 3 คือการแชร์ความรู้ เพื่อช่วยให้เทคโนโลยีใหม่ในสตาร์ทอัปเติบโตยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดประโยชน์กับเอไอเอส ไทยคม และบริษัทอื่นในเครือ
จากที่ผ่านมา 9 ปี ธีมการลงทุนของอินเว้นท์นั้นโฟกัสที่ดิจิทัลไลฟ์เพราะเกี่ยวกับคอร์บิสิเนส การลงทุนส่วนใหญ่ลงในแอปพลิเคชันเป็นหลัก เพื่อเพิ่มคุณค่าธุรกิจหลักของอินทัชอย่างจริงจัง แต่จุดเปลี่ยนล่าสุดคือ การมี 5G ทำให้เกิดโอกาสใหม่ และการใช้บริการที่เปลี่ยนไป ดังนั้น อินเว้นท์จึงจะเปลี่ยนไปโฟกัส 5G มากขึ้น เพื่อเร่งให้บริการ 5G เกิดได้เร็วขึ้น สร้างให้อินทัชเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5G ได้ทันใจมากขึ้นในอนาคต
ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจใหม่ที่อินทัชมองในปี 64 จึงเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ในต่างประเทศ คู่กับการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัปทั้งไทยและต่างประเทศ โดยที่การเพิ่มทุนนั้นเป็นสิ่งที่บริษัททำมาแต่เดิมอยู่แล้วและจะทำต่อไป
'ในช่วงปี 2564 ถึงปี 2568 สิ่งที่เราจะทำเพิ่มจาก 9 ปีที่ผ่านมา คือ ทำ VC Fund investment หรือการลงทุนในกองทุน VC ต่างประเทศ เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราออกตามหาสตาร์ทอัปทั้งไทยและอาเซียน แต่ขณะนี้พบว่ายังมีน้อยที่เกี่ยวข้องกับ 5G เมื่อบริษัทจำเป็นต้องก้าวต่อไป จึงต้องการหา deal flow ข้างนอก โดยให้คนอื่นช่วยหา' ดร.ณรงค์พนธ์ กล่าว 'ถ้ามีโอกาสพัฒนา เราก็สามารถนำมาพัฒนาเป็นบริการไทยได้ เราต้องการหาสตาร์ทอัประดับก้าวหน้านอกพื้นที่ เพื่อให้เข้ามาได้เร็ว'
นโยบายการลงทุนใน VC Fund ช่วง 5 ปีข้างหน้าของอินเว้นท์จะเน้นลงทุนใน 3 กอง ทั้งหมดเป็นกองที่สนใจลงทุนในเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น กลุ่มอาคารอัจฉริยะ Smart Building เมืองอัจฉริยะ Smart City และโรงงานอัจฉริยะ Smart Manufacturing ซึ่งจะลงในพื้นที่เอเชียนอกอาเซียน ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอิสราเอล
'การลงทุนใน VC Fund จะเป็นการลงทุนที่มีช่วงเวลาชัดเจน 7-10 ปี หลังจากนี้จะขายเพื่อรับผลตอบแทน' ดร.ณรงค์พนธ์ มั่นใจ
การลงทุนใน VC Fund จะช่วยอินเว้นท์ได้ 3 ด้าน ด้านแรกคือ การเข้าถึงสตาร์ทอัปในพื้นที่อื่น จากปกติที่เลือกลงทุนเฉพาะในไทยและอาเซียน ซึ่งมี deal flow 200 ถึง 300 รายต่อปี คาดว่าตัวเลขนี้จะขยายเป็น 1,500 ถึง 2,000 ดีลให้บริษัทได้พิจารณาลงทุน ด้านที่ 2 คือ การเอามาพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่และด้านที่ 3 คือ การได้รับผลตอบแทนจากช่วงเวลาการลงทุน ความเคลื่อนไหวแรกที่จะเกิดขึ้นในการลงทุนใน VC Fund คือการลงนามข้อตกลงกับกองทุน VC อิสราเอลมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเมื่อลงเงินไปแล้ว บริษัทอาจจะเข้าไปร่วมพูดคุยและอาจชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยได้เลย
***ไทยยังเซ็กซี่
อินทัชย้ำว่า วงการสตาร์ทอัปไทยยังคงน่าสนใจและมีศักยภาพ ดังนั้น บริษัทจึงตั้งนโยบายลงทุนรูปแบบ Venture Builder ขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างให้สตาร์ทอัปไทยแข็งแกร่งได้ ถือเป็นอีกด้านที่อินเว้นท์จะทำในปี 64 เป็นต้นไป ผ่านการร่วมสร้างธุรกิจใหม่กับผู้ประกอบการเทคโนโลยีไทยและเทศ
'สตาร์ทอัปในแต่ละประเทศต่างมีช่วงเวลาขาขึ้นและลง ก่อนหน้านี้ บางประเทศก็ไม่เป็นที่นิยมในการลงทุนทำให้เกิดการโยกการลงทุนไปมา เชื่อว่าในอนาคตเม็ดเงินลงทุนก็จะเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน เห็นจาก VC ต่างประเทศที่มีการย้ายเข้ามาในตลาดบ้านเรา เพราะหลายคนยังมองประเทศไทยอยู่และตลาดไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ'
สำหรับโครงการ Venture Builder อินเว้นท์เริ่มวางแผนสำหรับ 3 ปีข้างหน้าด้วย 3 โปรเจกต์ใหญ่ โดยปี 64 ได้ประกาศโครงการแล้วมีธุรกิจที่โฟกัสคือ เฮลท์แคร์ เพราะว่าสตาร์ทอัปเฮลท์แคร์ที่เติบโตแล้วยังมีจำนวนน้อย บริษัทจึงมองว่าอินทัชอาจจะช่วยร่วมสร้างสตาร์ทอัปเหล่านี้ขึ้นมาได้ นอกจากนั้น ยังรอรับสมัครทีมอนาคตไกลถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อคัดเลือก 4 ทีมมาเข้าร่วมโครงการในช่วง 15 เดือน
4 ทีมสมองใสจะได้รับความรู้ผ่านทีมอาจารย์ที่มาช่วยสอนให้ทั้ง 4 ทีมสามารถสร้างธุรกิจใหม่ เสริมไอเดียให้ทีมสามารถเข้าใจอุตสาหกรรมและมองกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะตอบโจทย์ได้จริง ซึ่งหลังจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทดสอบตลาดที่จะกินระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างนี้ทีมจะได้รับเงินพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องเริ่มต้น 150,000 บาทต่อทีมต่อเดือน
หลังทดสอบ อินเว้นท์จะเลือกทีมที่เห็นศักยภาพ แล้วตั้งเป็นบริษัทโดยจะร่วมกันถือหุ้นระหว่างอินทัชและทีมงาน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมถือหุ้นและบริหารบริษัทต่อไป
***งบใกล้เคียงเดิม
งบลงทุนที่อินเว้นท์เตรียมไว้สำหรับปี 64 ยังใกล้เคียงระดับเดิมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เบื้องต้น อินทัชไม่สนใจลงทุนในเงินคริปโต แต่จะลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานได้ โดยจุดที่บริษัทจะโฟกัสคือ 5G ซึ่งครอบคลุมบริการหลายด้าน ไม่เพียง Smart Building, Smart City และ Smart Manufacturing แต่บริษัทจะให้ความสำคัญกับระบบคอมพิวติ้งรวมถึงคลาวด์เกมมิ่งด้วย
'ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้เงินลงทุนหรือ VCในสตาร์ทอัปไปมากกว่า 252 ล้านบาท ตรงนี้มีการ Follow on หรือการลงทุนเพิ่มในเงินที่ลงทุนไปแล้ว งบส่วนนี้มีไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่งบการลงทุนใน Venture Builder นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่ก็จะลงทุนมาก แต่ถ้าเล็กก็ลงทุนน้อย ส่วนขนาดการลงทุนใน VC Fund คาดว่าจะอยู่ที่ 5-10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ 1 กอง เราไม่ได้มองที่ผลตอบแทนอย่างเดียว แต่ดูที่โอกาสการลงทุนเพื่อพัฒนาในอนาคตด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วบริษัทจะรักษาผลตอบแทนให้ไม่ต่ำกว่า 10%'
เฉพาะปี 64 อินเว้นท์ไม่เปิดเผยงบลงทุนที่แน่ชัด ระบุเพียงว่าบริษัทเน้นพิจารณาจากกระแสเงินสดในมือ แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่ต่ำลงเพราะว่า 9 ปีที่ผ่านมาไม่เคยถึงขีดจำกัด ขณะเดียวกัน ปีนี้บริษัทยังมีแผนการ exit จากสตาร์ทอัปที่ลงทุนไว้ด้วย
สำหรับภาพรวมสตาร์ทอัปไทย ในขณะนี้อินทัชระบุว่า จะลงทุนในสตาร์ทอัปที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ใช่สตาร์ทอัประดับเริ่มต้นโดยยอมรับว่ายังไม่เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของสตาร์ทอัปขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นในปี 63 เห็นชัดจากบางรายที่ต้องปิดกิจการไป และหลายแห่งหยุดพักไปซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสตาร์ทอัปรายอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'อินทัชวันนี้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ไม่มากเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สตาร์ทอัปกลุ่มประกัน เงินกู้ และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมถึงบริการกลุ่มไซเบอร์ซิเคียวริตี ดิจิทัลมีเดีย และเอ็ดเทคที่มีความต้องการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อินทัชมองว่าโควิด-19 จะเป็นตัวส่งผลกระทบระยะสั้น โดยบางบริการจะเป็นนิว นอร์มอล แต่ในระยะยาวก็จะยังต้องหาสตาร์ทอัปด้าน 5G เพื่อลงทุนแล้วนำเอามาเป็นบริการที่ยั่งยืน'
ดร.ณรงค์พนธ์ ยอมรับว่ากว่า 20 สตาร์ทอัปในพอร์ตของอินทัช พบว่า 2-3 ตัวมีรายได้ลดลงเพราะโควิด-19 แต่ตัวอื่นมีการเติบโต 2 หลักจนถึงบางส่วนที่โตเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขึ้นอยู่กับโปรเจกต์ว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในช่วงโควิด-19 ได้มากขนาดไหน
เหตุผลหลักที่บริษัทไม่สนใจลงทุนในเงินคริปโต เป็นเพราะไม่ตรงจุดประสงค์การลงทุนหลักของอินเว้นท์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งการหวังผลตอบแทนด้านการเงิน และผลตอบแทนด้านกลยุทธ์ ซึ่งไม่แค่คริปโตเท่านั้น แต่ในพื้นที่อย่างอสังหาริมทรัพย์บริษัทก็ไม่ได้เลือกลงทุน เพราะจะต้องเลือกที่เกี่ยวข้องกับปัจจุบันและอนาคตของธุรกิจหลักเท่านั้น
เรียกว่าไม่รอ แต่อินทัชก็เลือกนะ