เปิดแนวคิด 2 สตาร์ทอัปไทย LINE MAN Wongnai - Amity เมื่อประเทศไทยไม่ใหญ่พอสำหรับยูนิคอร์น และโควิด-19 สร้างโอกาสใหม่ให้สตาร์ทอัป ทำอย่างไรจึงพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้
ยอด ชินสุภัคกุล (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด ให้มุมมองถึงสถานการณ์สตาร์ทอัปในประเทศไทยปัจจุบันว่า จะมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มหลักๆ คือสตาร์ทอัปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เข้าสู่โหมดจำศีลเพื่อรอโอกาส กับอีกกลุ่มคือสามารถพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นมาสร้างเป็นโอกาสได้
อย่าง LMWN (LINE MAN Wongnai) ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ได้รับโอกาสจากการสถานการณ์แพร่ระบาดในครั้งนี้ เพราะผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมใหม่ในการสั่งอาหารจากร้านค้ามาทานที่บ้าน ทำให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมมากขึ้น ความท้าทายของ LMWN จึงกลายเป็นการบริหารจัดการต้นทุน ให้รองรับการให้บริการของลูกค้า และช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้แก่ร้านค้า
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมิตี้ กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้หลายบริษัทลงทุนดิจิทัลมากขึ้น เลยกลายเป็นโอกาสให้ทาง Amity จึงต้องเร่งขยายทั้งทีมงาน และธุรกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้
“การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุด ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค ต้องพยามหาโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัปสามารถอยู่รอด และเติบโตในยุคนี้ได้”
***ปรับมุมคิดสร้าง ‘สตาร์ทอัป’ ยูนิคอร์น
กรวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า ขนาดตลาดของประเทศไทยไม่ได้ใหญ่พอสำหรับการขยายธุรกิจสตาร์ทอัปให้กลายเป็นยูนิคอร์น แต่เพียงพอกับการทำตลาดที่ก่อให้เกิดรายได้ ในขณะที่สตาร์ทอัปจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ ด้วยการที่ตลาดมีขนาดเล็กทำให้มุมมองในการขยายธุรกิจต่างเร่งหาการเติบโตในระดับโลกทำให้เกิดแนวคิดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน
“ถ้าดูจากตลาดโลกแล้ว โอกาสของสตาร์ตอัปที่ทำธุรกิจ B2B นั้นมีโอกาศที่จะกลายเป็นสตาร์ต์อัปยูนิคอร์นได้มากกว่า แต่ในภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีตลาดที่ใหญ่พอสำหรับสตาร์ตอัป B2B ให้กลายเป็นยูนิคอร์น ทำให้ แอมิตี้ ตัดสินใจที่จะเป็น Global Player เพื่อเติบโตในต่างประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 100 ตำแหน่งเพื่อรองรับการขยายกิจการ”
ขณะที่ ยอด ระบุว่า หากดูจากยูนิคอร์นที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ จะพบว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ตลาดที่ใหญ่พอ เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน ดังนั้น แค่ไซส์ของประเทศก็ทำเป็นยูนิคอร์นได้ด้วยตัวเอง 2. โมเดลเป็นแบบ B2C (Business to Customer) เนื่องจากมีจำนวนการใช้งานมากกว่า B2B (Business to Business) แน่นอน และสุดท้ายคือ 3. ต้องสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้งาน
***VC โฟกัสการลงทุนมากขึ้น
ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Start-ups ให้ข้อมูลเสริมเกี่ยวกับการลงทุนของสตาร์ทอัปในปี 2020 พบว่า มีจำนวนการลงทุนน้อยลงโดยส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากโควิด-19 ทำให้สตาร์ทอัปไม่สามารถสื่อสารกับนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด ทำให้อยากเห็นนักลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ที่จะมาปิดช่องว่างนี้ ขณะเดียวกันยังพบว่าสตาร์ทอัปที่มีพื้นฐานที่ดียังคงได้รับเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ก็แนะนำว่าไม่อยากให้สตาร์ทอัปโฟกัสกับการเป็น ‘ยูนิคอร์น’ เพราะปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เป็นหรือไม่เป็นยูนิคอร์นก็คือ ‘เงินลงทุน’ แต่อีกสิ่งหนี่งที่สำคัญคือการเติบโตอย่างยั่งยืน จนสุดท้ายแล้วการที่จะเป็นยูนิคอร์นหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สตาร์ทอัปใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นมาได้อีกแน่นอน
***เครื่องมือช่วยให้เริ่มง่ายขึ้น
นอกเหนือจากการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้สตาร์ทอัปยุคใหม่ สามารถวางรากฐานธุรกิจได้เร็วขึ้น คือการที่มีเครื่องมือมาช่วยให้สามารถสเกลธุรกิจได้เร็วขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ AWS ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกที่ปัจจุบันมีบริการให้เลือกหลากหลายกว่า 175 เซอร์วิส และในแต่ละปีมีการเพิ่มฟังก์ชันในการใช้งานไม่ต่ำกว่า 2,000 ฟังก์ชัน จึงเข้ามาช่วย Enabling Platform ให้มี Innovation อย่างรวดเร็ว
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความท้าทายของสตาร์ทอัปว่า เมื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีลดต่ำลงมา การมีแพลตฟอร์มคลาวด์มาช่วยนอกจากลดทรัพยากร และต้นทุนในการบริหารจัดการไปโฟกัสกับการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าที่ดี
“‘AWS Activate เป็นโปรแกรมโครงสร้างทรัพยากรเทคโนโลยีสำหรับลูกค้า ที่ช่วยให้ธุรกิจใหม่สามารถตั้งต้นบน AWS ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เพื่อการประสบความสำเร็จในการใช้แพลตฟอร์ม AWS ในการขยายธุรกิจสตาร์ทอัปอย่างมีประสิทธิภาพ”