เอไอเอสจ่ายค่าคลื่น 700 MHz พร้อมใช้งานได้ทันที 3,000 สถานีฐาน เสริมทัพ 5G ร่วมกับคลื่น 2600 MHz คาดสิ้นปีลูกค้าใช้งาน 5G ทะลุหลักล้านเลขหมาย แย้มสนใจเป็นพันธมิตรคลื่น 700 MHz กับ NT แน่นอน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า วันที่ 13 ม.ค.2564 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz (723 - 733 / 778 -788 MHz ) ในมูลค่ารวม 15,584 ล้านบาท ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,881,488,000.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ม.ค.2564 เอดับบลิวเอ็น จะได้รับใบอนุญาตและจะมีสถานีฐานในการให้บริการคลื่น 700 MHz ที่ใช้งานได้ทันที 3,000 สถานีฐาน ในเดือน ม.ค.2564 หลังจากที่ได้ทดลองทดสอบไปแล้วเมื่อปี 2563 ประมาณ 1,000 สถานีฐาน ซึ่งการรับใบอนุญาตในเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่กสทช.ได้ดำเนินการปรับปรุงสัญญาณทีวีดิจิทัลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคลื่น 700 MHz จะนำมาเสริมศักยภาพการให้บริการ 5G ร่วมกับคลื่น 2600 MHz ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าภายในปีนี้จะมีลูกค้าคอนซูเมอร์ใช้บริการ 5G หลักล้านเลขหมาย ขณะที่เมื่อสิ้นปี 2563 มีผู้ใช้งานประมาณหลักแสนราย ส่วนลูกค้าองค์กรคงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยี IoT, โรโบติก, เออาร์ หรือวีอาร์มากขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเอไอเอสมีคลื่น 700 MHz แล้ว ก็ยังมีความสนใจในการเป็นพันธมิตรคลื่น 700 MHz ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประกาศนโยบายในการเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทุกราย ดังนั้น เชื่อว่า NT จะไม่จำกัดการทำงานกับพันธมิตรเพียงรายเดียว
นายสมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอไอเอสตั้งใจเข้าประมูลคลื่น 5G แบบเต็ม Block ในทุกย่านความถี่ โดยมีครบทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 30 MHz (2x15 MHz) คลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 1,200 MHz รวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1,330 MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้เอไอเอสยังคงยืนหยัดในฐานะผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G,4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1,420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ)
ด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี 5G โดย 3GPP ระบุว่า คลื่น 700 MHz จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุดที่จำนวนเต็ม 30 MHz (2x15 MHz) จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการเข้าประมูลย่าน 700 MHz เพิ่มอีก 10 MHz (2x5 MHz) จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 MHz (2x10 MHz) รวมเป็น 30 MHz (2x15 MHz) ในขณะที่คลื่น 2600 MHz ต้องมีจำนวน 100 MHz จึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน ส่วนคลื่น 26 GHz ต้องมีจำนวน 400 MHz ต่อ 1 Block จึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรองรับดิจิทัลโซลูชันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต จึงเห็นได้ว่าจำนวนคลื่นในทุกย่านความถี่บนเทคโนโลยี 5G นั้น อยู่ในระดับมาตรฐานการให้บริการทั้งสิ้น
“เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่า คลื่นความถี่ คือทรัพยากรสาธารณะอันทรงคุณค่า ดังนั้นหลังจากการประมูลได้แต่ละคลื่นมาให้บริการ เอไอเอส จึงเร่งเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายเพื่อส่งต่อประโยชน์ไปยังประชาชน และทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้ล่าสุด ได้รับการรับรองจาก กสทช.ว่า เอไอเอสสามารถขยายเครือข่ายในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ได้เร็วเกินกว่าที่ กสทช.กำหนด ซึ่งคลื่น 1800 MHz ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 40% ของจำนวนประชากร แต่เอไอเอสขยายได้ 88.47% ส่วนคลื่น 900 MHz ภายใน 4 ปีแรก ต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 50% ของจำนวนประชากร เอไอเอสขยายได้ 93.59% ซึ่งทีมงานจะยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยี 5G จากทุกคลื่นความถี่ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกันมาสร้างประโยชน์ทันทีตามเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่ Digital Intelligent Nation อย่างสมบูรณ์” นายสมชัย กล่าว