xs
xsm
sm
md
lg

ทำความเข้าใจ 5G บนคลื่น 700 MHz ใช้อย่างไรได้ประโยชน์สูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



15 มกราคม 2564 เป็นวันที่โอเปอเรเตอร์ในไทยทั้ง 3 ราย ได้แก่ ดีแทค ทรูมูฟ เอช และเอไอเอส ต่างถือครองคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ได้รับการจัดสรร และเปิดประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

โดย AIS กลายเป็นโอเปอเรเตอร์รายสุดท้ายที่เข้าไปชำระค่าคลื่น และได้รับใบอนุญาตในวันนี้ (15 ม.ค.) ในขณะที่ dtac เป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ได้คลื่น 700 MHz ไปใช้งานตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.63 ตามด้วย TrueMove H ที่ได้รับใบอนุญาตไปเมื่อ 28 ธ.ค.63

สำหรับแผนการนำคลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้งานของทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ นำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเรื่องของความครอบคลุมพื้นที่ สามารถทะลุทะลวงเข้าไปภายในอาคารสูงเป็นหลัก

เบื้องต้น ทางเอไอเอสระบุว่า ภายในสิ้นเดือนมกราคมจะมีสถานีฐานที่ให้บริการคลื่นความถี่ 700 MHz ทั้งสิ้น 3,000 สถานีฐาน ในขณะที่ดีแทค กำหนดแผนไว้ว่าในช่วงกลางเดือนมกราคม จะให้บริการ 2,000 สถานีฐานทั่วประเทศ แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีความล่าช้าออกไปบ้าง

ในส่วนของทรูมูฟ เอช จะเน้นนำคลื่น 700 MHz เข้าไปเสริมกับคลื่นความถี่ต่ำเดิมที่มีทั้ง 850 MHz และ 900 MHz เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับคลื่นความถี่กลาง 2600 MHz และคลื่นความถี่สูง 26 GHz

***5G บนคลื่น 700 MHz ไม่เน้นความเร็ว แต่ครอบคลุมพื้นที่


ในแง่ของการให้บริการ 5G ปัจจุบัน มีเพียงดีแทครายเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ทำให้ต้องเร่งติดตั้งสถานีฐาน 5G บนคลื่น 700 MHz ออกมาให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง 5G ได้

แต่ในความเป็นจริง การที่คลื่น 700 MHz มีแบนด์วิดท์ในการให้บริการเพียง 10 MHz (10x2 MHz เนื่องจากใช้เทคโนโลยี FDD ที่ต้องมีการแบ่งช่วงคลื่น Uplink-Downlink) จะสามารถทำความเร็วในการใช้งานได้เร็วกว่า 4G ประมาณ 10-20% เท่านั้น

ดังนั้น 5G บนคลื่น 700 MHz ที่มีแบนด์วิดท์ 10 MHz จะทำความเร็วได้ประมาณ 90-100 Mbps และถ้าเพิ่มเป็นสูงสุดที่ 15 MHz จะได้ความเร็วเพิ่มเป็นไม่เกิน 150 Mbps ซึ่งในจุดนี้ เอไอเอสเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่จะใช้ความสามารถของ 5G บนคลื่น 700 MHz ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถือครองคลื่นความถี่ 15x2 MHz แบบเต็ม Super Block

ทำให้เห็นได้ว่าความเร็วที่ได้จาก 5G บนคลื่น 700 MHz นั้นจะไม่สูงเท่ากับคลื่นความถี่ย่านกลางที่เหมาะกับการให้บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงอย่าง 2600 MHz ที่ปัจจุบัน AIS สามารถเร่งความเร็วในการเชื่อมต่อ 5G ขึ้นไปได้อยู่ที่ราว 1.2 Gbps และเมื่อเทียบกับคลื่น mmWave ที่ได้ความเร็วระดับ Gbps เป็นเรื่องปกติ จึงทำให้เห็นว่า แต่ละช่วงคลื่นความถี่ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้คลื่นความถี่ 700 MHz ถูกนำไปใช้งานกับทีวีดิจิทัล ทำให้อีก 5 MHz ที่เหลือ เอไอเอสต้องรอ กสทช. ปรับจูนคลื่นความถี่ที่ใช้งานกับทีวีดิจิทัล และนำมาบริหารจัดการให้เรียบร้อยก่อนจึงสามารถนำมาใช้งานได้


ประกอบกับจุดเด่นของคลื่นความถี่ย่านต่ำ ทำให้จากเดิมโอเปอเรเตอร์ที่ใช้งานคลื่น 900 MHz จะสามารถขยายพื้นที่ได้ครอบคลุมมากกว่าเดิม เมื่อเปลี่ยนมาใช้งานคลื่น 700 MHz ซึ่งกลายเป็นว่าโอเปอเรเตอร์ที่มีประสบการณ์กับคลื่นความถี่ต่ำมากที่สุด ก็คือ เอไอเอส ที่เริ่มยุคของการใช้งานด้วย GSM 900 ตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่ให้บริการ

***ความหน่วงต่ำสำคัญที่สุด

ประโยชน์ในการใช้งาน 5G บนคลื่น 700 MHz นอกเหนือจากความครอบคลุมแล้ว ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของความหน่วงต่ำ หรือ Low Latency ทำให้สามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เชื่อมต่อได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะบรรดารถยนต์ไร้คนขับที่จะถูกนำมาใช้งานในอนาคต เพราะเมื่อมีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณกว้าง และความหน่วงต่ำก็สามารถนำมาใช้งานได้

นอกเหนือจาก 5G แล้ว คลื่นความถี่ 700 MHz ยังสามารถนำไปใช้ในการให้บริการ 4G ในครอบคลุมเพิ่มขึ้นด้วย และในท้องตลาดปัจจุบันนี้ ก็มีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน 4G บนคลื่น 700 MHz ทำให้ประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือโดยรวมทั่วประเทศจะดีขึ้นจากทุกค่ายผู้ให้บริการมือถือ

อีกประโยชน์ของคลื่น 700 MHz คือ การนำมาใช้งานร่วมกับคลื่น 4G LTE เดิมในลักษณะของ Anchor Band ที่สามารถจับคู่กับคลื่น 1800 MHz และ 2100 MHz ได้ ส่วนคลื่น 900 MHz ที่เป็น 4G ก็นำไปใช้เป็น Ancher Band กับคลื่น mmWave อย่าง 26 GHz เพื่อใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น