สิ่งที่ตามมาในยุคโลกออนไลน์คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้หลายช่องทางไม่จำกัดแค่สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้คนได้รับรู้ข่าวสารจากโลกออนไลน์ได้ง่าย แต่แฝงไปด้วยความน่ากลัวเพราะผู้ที่เสพข้อมูลทางโลกออนไลน์จากสื่ออื่นที่ไม่ใช่สื่อหลักจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข้อมูลที่รับรู้นั้นจริงหรือเท็จ และนำไปสู่การบอกต่อหรือส่งต่อข้อมูลเท็จโดยไม่รู้ตัว
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล รวมถึงช่วยกันกลั่นกรองว่าข้อมูลที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์นั้นจริงหรือไม่ซึ่งมีหลายครั้งที่ข่าวปลอมมีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด จนอาจมีผลต่อสุขภาพ เช่น เรื่องการนำเสนอข้อมูลของยาหรือสมุนไพรอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ หรือแม้กระทั่งการปั่นความคิดทางการเมืองเพื่อก่อให้เกิดความแตกแยก
***ผลงานตรวจสอบกว่า 7,000 เรื่อง
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2562 ด้วยงบประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อเน้นตรวจสอบข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม
จากนั้นต้องมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข่าวไหนปลอมข่าวไหนจริง ใช้กลไกการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ที่จะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ สื่อมวลชน ทำหน้าที่ วางแผน กำกับการดำเนินงาน และแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ข่าวที่เป็นกระแสโซเชียลอย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ
ทั้งนี้ ผลงานรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2562-18 ธ.ค.2563 พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 39,209,284 ข้อความ โดยมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 20,829 ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 7,420 เรื่อง
***หมวดสุขภาพครองแชมป์ข่าวปลอม
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือการสนทนาบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแสเกี่ยวกับข่าวปลอม ผ่านเครื่องมือในการคัดกรองเนื่องจากในโลกออนไลน์มีปริมาณของข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ดังนั้น การใช้คนไม่สามารถคัดกรองได้หมด จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวในการช่วยคัดกรองดังนั้นจึงทำให้สามารถตรจพบผ่านเครื่องมือนี้มากที่สุด จำนวน 38,956,319 ข้อความ คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.35% รองลงมาคือบัญชีไลน์ทางการ เฟซบุ๊กเพจและเว็บไซต์ทางการของศูนย์ฯ ที่มีคนแจ้งเบาะแสเข้ามา
เมื่อแยกประเภทข่าวที่ต้องตรวจสอบ 7,420 เรื่อง มากกว่าครึ่งหรือ 56% เป็นข่าวในหมวดสุขภาพมีจำนวน 4,190 เรื่อง ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 2,809 เรื่อง คิดเป็น 38% หมวดเศรษฐกิจ 266 เรื่องคิดเป็น 4% และหมวดภัยพิบัติ 155 เรื่อง หรือประมาณ 2%
***เพจอาสาจับตาออนไลน์อีกแรงสำคัญแจ้งข่าวปลอม
ด้านเพจอาสาจับตาออนไลน์ อีกช่องทางให้ประชาชนแจ้งข่าวสารพบว่ามีประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสเว็บ/สื่อสังคมออนไลน์ผิดกฎหมายเข้ามาตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.-17 ธ.ค.2563 รวมทั้งสิ้น 39,300 เรื่องหรือเฉลี่ยวันละ 280 เรื่องโดยหลังจากตรวจสอบข้อมูลมีการเก็บหลักฐานนำส่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการ 16,048 เรื่อง คิดเป็น 41%
ส่วนอีก 23,222 เรื่อง หรือ 59% การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบยูอาร์แอล/หลักฐาน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการลบโพสต์หรือยูอาร์แอลนั้นไปก่อนแล้วเนื่องจากเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ ในส่วนที่มีการเก็บหลักฐานและส่งดำเนินการตามกฎหมาย 16,048 เรื่องนั้น พบว่า เป็นประเภทความผิดด้านความมั่นคง 42.72% จำนวน 6,855 เรื่อง ตามมาด้วยการเมือง 26.43% จำนวน 4,241 เรื่อง การพนันออนไลน์ 17.73% จำนวน 2,845 เรื่อง อื่นๆ 10.94% จำนวน 1,756 เรื่อง การหลอกลวง 1.19% จำนวน 191 เรื่อง ข่าวปลอม 0.63% จำนวน 101 เรื่องและลามก 0.37% จำนวน 59 เรื่อง
***แจ้งเตือนเจ้าของแพลตฟอร์ม 7 ครั้ง ปิดยูอาร์แอลผิดกฎหมาย
สำหรับการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มต่างๆ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มต้องดำเนินการปิดยูอาร์แอลที่ผิดกฎหมายด้วย หากไม่ดำเนินการกระทรวงดีอีเอสจะส่งหนังสือแจ้งเตือนหากยังไม่ดำเนินการจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
โดยที่ผ่านมา กระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง จำนวน 8,443 ยูอาร์แอลแบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 5,494 ยูอาร์แอล โดยปิดกั้นแล้ว 3,107 ยูอาร์แอล ยูทูป 1,755 ยูอาร์แอล ปิดกั้นแล้ว 1,722 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 674 ยูอาร์แอล ปิดกั้นแล้ว 63 ยูอาร์แอล และอื่นๆจำนวน 520 ยูอาร์แอล ปิดกั้นแล้ว 133 ยูอาร์แอล
***ปราบพนันออนไลน์มูลค่าเงินหมุนเวียนกว่า 3 หมื่นล้าน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสรับนโยบายรัฐบาลในการรุกกวาดล้างเครือข่ายการพนันออนไลน์อย่างจริงจังโดยตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 ถึงปัจจุบันได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เร่งดำเนินการจนสามารถสืบสวนและดำเนินการจับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ มีคำสั่งศาลให้ระงับการแพร่หลายข้อมูลการพนันแล้วจำนวน 1,711 ยูอาร์แอล
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ผลการปฏิบัติการปิดกั้นเว็บการพนันออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-17 ธ.ค.2563 ได้ดำเนินการปิดกั้นแล้ว 299 ยูอาร์แอล จับกุมผู้ต้องหาได้ 143 รายคิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนกว่า 35,000 ล้านบาท
ผลงานนี้ทำให้ซูเปอร์โพลเลือก “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ติด 1 ใน 3 รัฐมนตรีที่มีผลงานเข้าตารองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาอันดับ 1 และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มาเป็นอันดับ 2
***ผลักดันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมสู่องค์กรอิสระ
สำหรับแผนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในปี 2564 “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสตั้งงบประมาณไว้เท่าเดิมคือ 90 ล้านบาท โดย 40% ของงบประมาณคือการใช้เครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูล ด้วยข้อมูลที่มหาศาลในโลกออนไลน์การใช้เครื่องมือกลั่นกรอง การสนทนาบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแสเกี่ยวกับข่าวปลอมเป็นสิ่งจำเป็นจากสถิติพบว่าคนหนึ่งคนมีการใช้งานโซเชียล 20 ครั้งต่อวัน ที่เหลือเป็นเรื่องของบุคลากรในการทำงาน
“ในอนาคตตนเองต้องการมองเห็นศูนย์ดังกล่าวเป็นองค์กรอิสระที่ยืนได้ด้วยตัวเองจากการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชนที่เป็นสื่อหลักที่น่าเชื่อถือ นักวิชาการ และองค์กรต่างๆ จึงมั่นใจว่าในอนาคตศูนย์นี้จะเป็นอิสระและยืนได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าองค์กรนี้ทำเพื่อประชาชนไม่ได้ทำอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ”