xs
xsm
sm
md
lg

QANDA แอปแก้โจทย์เลขเกาหลี พร้อมรุกนักเรียนไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องจากการทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ QANDA แพลตฟอร์มสาย EdTech โดยบริษัท แมทเพรสโซ่ จำกัด (Mathpresso Co.,Ltd.) เทคสตาร์ทอัปสัญชาติเกาหลี ประกาศแผนเดินหน้าขยายธุรกิจสู่แพลตฟอร์มให้ความรู้ระดับ Worldwide เล็งขึ้นแท่น “กูเกิลแห่งโลกการศึกษา” เพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

จอยซ์ ชอย ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจทั่วโลก Mathpresso กล่าวว่า ด้วยมาตรฐานการครองชีพและความกระตือรือร้นในแวดวงการศึกษาของประเทศไทยที่มีมากกว่าชาติอื่นในภูมิภาคนี้ แม้ว่าจะมีประชากรในวัยเรียนระดับ ม.6 (K-12) น้อยกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่กลับยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่นมาก ทั้งยังไม่มีคู่แข่งที่เป็น EdTech รายใหญ่ จึงเป็นโอกาสสำคัญของ Mathpresso ที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

“ปัจจุบัน QANDA ให้บริการครอบคลุม 10% ของนักเรียนไทยระดับ ม.6 ที่มีโทรศัพท์มือถือ แผนต่อไปคือจะให้บริการครอบคลุมการใช้งานของนักเรียนชั้น ม.6 อย่างน้อย 30-40% และขึ้นแท่นแพลตฟอร์มด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดภายใน 2 ปี โดยเติบโตจากโครงสร้างที่มี ‘นวัตกรรม’ เป็นฐานรากสำคัญ”

  จอยซ์ ชอย
สำหรับจุดเริ่มต้นของ QANDA มาจาก เรย์ ลี นักศึกษาหนุ่มที่หารายได้ขณะเรียนมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นติวเตอร์ และเกิดไอเดียเรื่องการพัฒนาเครื่องมือให้นักเรียนถามโจทย์แล้วได้รับคำตอบอย่างรวดเร็ว จึงชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยมัธยมมาร่วมสร้างแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จนเกิดเป็น QANDA แอปพลิเคชันแก้โจทย์คณิตศาสตร์ และได้ก่อตั้งเป็นบริษัท Mathpresso ขึ้นในปี 2558


Mathpresso เดินหน้าพัฒนา QANDA อย่างต่อเนื่องด้วยการเพิ่มฟังก์ชันการค้นหาอัจฉริยะ (smart search capability) ให้ผู้ใช้งานค้นหาคําตอบได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที ตามมาด้วย Qalculator ฟังก์ชันเครื่องคิดเลขที่ใช้สำหรับคำนวณสูตรคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ การให้คำตอบที่รวดเร็วและแม่นยำผ่านแอปดึงดูดให้นักเรียนเกาหลีหันมาใช้งาน QANDA มากขึ้น จนในที่สุดก็ครองใจและครองตลาดผู้เรียนในประเทศเกาหลีได้สำเร็จ

ศักยภาพของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย ไทย เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมาก หากเข้าถึงผู้เรียนชาวอินโดนีเซียได้เท่ากับเป็นการเจาะตลาดขนาดใหญ่ และสำหรับประเทศไทย โดยเพียงสัปดาห์แรกของการเปิดตัวในปี 2563 QANDA ก็ทะยานขึ้นสู่แอปที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 บน Google Play Store ปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ การเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการโต้ตอบ เรียนรู้ และให้คําตอบพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาหลากหลายรูปแบบ


จอยซ์ ชอย ย้ำว่า QANDA เป็นแอปสำหรับการเรียนรู้แอปเดียวในตลาดที่ให้บริการแบบผนวกรวมทั้ง AI-based search และ human-based คือ ใช้ระบบที่มี AI ช่วยในการค้นหา และยังเปิดให้ผู้ใช้งานค้นหาเองได้อย่างสะดวก เพราะระบบเรียนรู้จากการค้นหาของคนก็จะช่วยให้การแก้โจทย์ที่เป็นข้อความยาวๆ ยากๆ กับปัญหาด้านตรรกะทำได้ดียิ่งขึ้น


“นอกจากนี้ เรายังแตกต่างจากแอปแก้ปัญหาคณิตศาสตร์อื่นๆ ในเรื่องสูตร จะเรียกว่าสูตรสำเร็จก็ได้ เพราะของที่อื่นแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และแก้สมการได้ตามสูตรทั่วไปเท่านั้น ระบบสามารถให้คําตอบได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ก็จะจบลงตรงนั้น เช่น คําถามด้านเรขาคณิต เมื่อเจอปัญหาที่นอกเหนือจากสูตร ระบบก็จะไปต่อไม่ได้เพราะความสามารถไม่ถึง หรือคณิตศาสตร์ขั้นสูงอย่างแคลคูลัส คําถามเชิงตรรกะก็เช่นกัน และถ้าดูค่าเฉลี่ย แอปเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาให้ผู้เรียนระดับ K-12 ได้น้อยกว่า 15% ของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตามหลักสูตรเท่านั้น”

วิชาหลักและวิชาแรกที่เปิดให้ใช้งาน คือ คณิตศาสตร์ ซึ่งเมื่อระบบมีประสิทธิภาพ รองรับการใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็วก็เพิ่มสาขาวิชาทั่วไปเข้าในระบบ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การศึกษา และยังต่อยอดสู่คลาสเรียนสด (Live classes) สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนภาษาจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

“เราจะรวบรวมข้อมูลการถามตอบในรูปแบบต่างๆ เอาไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะป้อนเข้าไปในรูปแบบข้อความที่เขียนด้วยลายมือ ภาพถ่าย หรือแม้แต่วิดีโอ ระบบก็สามารถเข้าใจได้ นอกจากนี้ ยังมี QANDA Pass การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มอีกทางหนึ่งที่เราสร้างขึ้น ซึ่งเปิดตัวแล้วในอินโดนีเซีย ไทย เกาหลี และเวียดนาม นักเรียนสามารถโต้ตอบกับครูในระหว่างชั้นเรียนได้เช่นเดียวกับการเรียนออนไลน์ผ่าน youtube ตอนนี้เรามีวิชาทั่วไปครบทุกวิชา นักเรียนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ไม่จํากัด และยังสามารถตั้งค่าแบบ personalize ตามความสนใจของแต่ละคนได้อีกด้วย” จอยซ์ ชอย กล่าว


เนื่องจาก QANDA ได้รวบรวมข้อมูลผู้ใช้จนมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่กลายเป็น Big Data ที่ช่วยให้วิเคราะห์สถานะ การเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนและนำเสนอวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นข้อได้เปรียบของ QANDA คู่แข่งรายอื่นจะเข้าแข่งขันในตลาดประเทศต่างๆ ได้ยากขึ้น เนื่องจากนักเรียนที่ใช้แพลตฟอร์ม QANDA จะได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดด้วยอัตราความสําเร็จในการค้นหาที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งในปี 2564 Mathpresso จะเปิดตัวแพลตฟอร์มที่อัดแน่นไปด้วยคอนเทนต์วิดีโอ และโซลูชันที่ตอบโจทย์ต่างๆ สำหรับคนไทย 100% และวางโมเดลสร้างรายได้แบบ Subscription เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงคอนเทนต์วิชาต่างๆ ได้ไม่จํากัด

ส่วนเป้าหมายในระยะ 3-5 ปี Mathpresso ตั้งเป้าผลักดัน QANDA ให้เป็น 'Google of Education' แพลตฟอร์มการศึกษาเบอร์ 1 ของโลก

“เมื่อนักเรียนสงสัยหรือไม่เข้าใจวิชาใดก็จะคิดถึง QANDA เป็นโซลูชันค้นหาคำตอบทันที เหมือนเวลาที่เราอยากรู้อะไรก็จะค้นหาจาก Google ซึ่งหากพูดถึงแผนนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะดูน่าหัวเราะ เพราะองค์กรของเรามีขนาดเล็กมาก แต่ตอนนี้นักเรียนทุกคนในเกาหลีใช้แพลตฟอร์มของเราในการหาคำตอบแล้ว เราจึงเชื่อว่า QANDA จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนทั่วโลก และจะเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างแน่นอน” จอยซ์ ชอย กล่าวปิดท้าย








กำลังโหลดความคิดเห็น