“วิษณุ” ชี้รายชื่อกรรมการสมานฉันท์สัดส่วนรัฐบาล อยู่ที่เลขาฯ นายกรัฐมนตรีเสนอใคร เผยเหตุไม่มี รมต.ไปร่วม เพราะเวลาไม่เอื้อ อย่าคิด คกก.สมานฉันท์ เป็นสูตรสำเร็จแก้ปัญหาทุกอย่าง ย้ำเป้าหมายไม่ได้แก้ปัญหาปัจจุบัน แต่ป้องกันความขัดแย้งในอนาคต แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ถือว่าได้พยายามแล้ว
วันนี้ (16 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของรัฐบาลที่มีข่าวว่าจะให้มาจากพรรคพลังประชารัฐ 1 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คนว่าไม่ทราบ ตนเห็นแต่หนังสือที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีมาถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่าให้รัฐบาล หรือ ครม.ส่งผู้แทนไป 2 คนเท่านั้น ส่วนจะมีโควต้าของพรรคไหน เท่าไหร่นั้นตนไม่ทราบ อยู่ที่เลขาธิการนายกฯ จะหารายชื่อแล้วเสนอให้นายกฯ พิจารณา ซึ่งเลขาธิการนายกฯ เคยมาคุยกับตนเหมือนกัน เห็นว่าคงต้องไปคุยกับทางวิป หรือตัวแทนพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นกรรมการสมาฉันท์ในสัดส่วนของรัฐบาลจะต้องเป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีสเปกอะไร ในหนังสือที่เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ส่งมาก็ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ก็เพียงแค่ไปเป็นผู้แทน ไปนั่งคุยกัน ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ให้สัมภาษณ์ไปว่า ไม่ได้ไปชี้ขาด ไม่ได้ไปบอกว่าใครถูกหรือใครผิด แต่เป็นการระดมความคิด ความเห็นว่าจะเดินไปข้างหน้าให้เกิดความเรียบร้อยได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาบางทีในการหาเสียงเลือกตั้ง บางพรรคลงพื้นที่นี้พื้นที่นั้นไม่ได้ แบบนี้ถือเป็นความไม่สงบเรียบร้อย
“วันนี้สังคมไปมองว่าคณะกรรมการสมานฉันท์จะมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมันคงแก้ไม่ได้ ความขัดแย้งมันมีอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่อย่างนั้น และมันคงจะแก้ไปโดยวิธีอื่นๆ แต่คณะกรรมการสมานฉันท์ที่กำลังพูดกันอยู่นี้เป็นการมองไปข้างหน้า แต่รายละเอียดต้องไปถามนายชวน เพราะท่านเป็นเจ้าของความคิดนี้ ถึงมีคนเสนอว่าอาจจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด หรือ 3 ชุด อะไรทำนองนี้ รวมถึงกรอบเวลาด้วย ต้องไปถามทางสภาผู้แทนฯ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองกันว่าการที่มีชื่อนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ไปเป็นกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของรัฐบาล เหมือนรัฐบาลไม่มีความจริงใจ เพราะควรจะส่งบุคคลระดับรัฐมนตรีไปร่วมมากกว่า นายวิษณุกล่าวว่า ต้องดูว่ามีเวลาว่างพอที่จะไปนั่งประชุมหรือไม่ เพราะต้องประชุมกันบ่อย บางทีอาจต้องใช้เวลาประชุมทั้งวัน หากเป็นรัฐมนตรีอาจไม่สะดวก ไม่เหมาะ ส่งชื่อไปแล้ว ไม่ได้ไปนั่งประชุมดูจะเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นเอาคนที่เขาสามารถไปนั่งร่วมประชุม ไปทำงานและมีประสบการณ์ดีกว่า ส่วนจะเป็นใครนั้นตนไม่ทราบ
เมื่อถามว่า คำว่ามีประสบการณ์นั้นหมายถึงเป็นคู่ขัดแย้งหรือเคยร่วมชุมนุม หรือเป็นแกนนำการชุมนุมมาก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็อาจจะทำให้รู้ก็ได้ว่าวิธีการมันคืออะไร เพราะเขาไม่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะดูสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในขณะนี้ มันไม่ใช่ แต่เป็นการมองไปข้างหน้า การทำให้เกิดความสมานฉันท์ในความหมายของประธานสภานั้นเพราะเป็นห่วงว่าเดี๋ยวจะเกิดความร้าวฉานไปนาน เวลาหาเสียงบางพรรคลงพื้นที่ไม่ได้ ลงบางภาคไม่ได้ ซึ่งเคยเกิดมาแล้วก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
“ในส่วนของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้น เขาทำของเขาและเขาไม่สมานฉันท์กับใครอยู่แล้ว แต่ถ้าคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ทำงานได้ดี มีการมองไปในอนาคตข้างหน้าได้ดี แล้วคนก็เชื่อถือ มันอาจจะถอยกลับมาแก้ปัญหาปัจจุบันได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาแล้ว อีกฝ่ายไม่ยอมรับ จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง แต่ก็ยังเชื่อว่ามันจะเหลืออะไรทิ้งไว้ให้ประเทศชาติได้รู้ว่ามีความพยายามแล้วและอาจจะมีข้อเสนออะไรดีๆ ที่เอาไปใช้ในชุดต่อๆ ไป หรือในอนาคต หรือป้องกันไม่ให้มันเกิด หรือใครที่เขาจะไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่แนะนำก็แล้วไป แต่ก็คงจะมีบางคนที่จะปฏิบัติตาม ให้มันออกมาก่อนแล้วจะได้รู้ว่าควรจะต้องไปทำอย่างไร อย่าไปคิดว่าเป็นสูตรสำเร็จจะแก้ปัญหาทุกอย่างที่สะสม หมักหมมมานานได้ ไม่มีใครคิดอย่างนั้น นายชวนที่เสนอแบบนี้มาก็ไม่ได้คิดว่าจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เมื่อถามว่าหากฝ่ายตรงข้ามเสนอผู้ใหญ่ข้างนอกที่เขายอมรับเข้ามาก็สามารถเสนอได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีปัญหา ตอนนี้ยังดูหน้าตาคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ออก ตอนนี้ยังเป็นสูตร 7 ฝ่ายที่จะเป็นใครก็ได้ อาจเป็นผู้ที่เคยมีความขัดแย้งมา ก็อาจจะทำให้มองเห็นอนาคตได้เพราะมันไม่ได้กลับไปแก้ข้อขัดแย้งที่มีอยู่ แต่มันเป็นการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตที่จะเกิดขึ้น